อดีตรองประธานกสทช.ชี้ควบรวมทรู-ดีแทคผู้บริโภคได้ประโยชน์-มีเพดานราคาคุม

“เศรษฐพงค์” เห็นด้วยมติ กสทช. ไฟเขียวรวมทรู-ดีแทค ยึดหลักกฎหมาย และไม่เลือกปฏิบัติ เงื่อนไขผู้บริโภคได้ประโยชน์ ชี้มีเพดานคุม หมดห่วงเรื่องราคา เชื่อตลาดยังมีการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติเสียงข้างมาก “รับทราบ” ในการพิจารณาเรื่องการควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ้ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า ตนเห็นว่า กสทช.เดินหน้ามาถูกทางแล้ว โดยได้ทำหน้าที่ตามข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ เพราะการรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทคต้องยึดตามประกาศ กสทช.ปี 2561 เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ กสทช.ปี 2553 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยมีประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นก่อนหน้านี้ของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่เคยให้ความเห็นแก่ กสทช.ไว้เช่นกัน

“การตัดสินใจของกสทช. ในครั้งนี้ จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ถูกต้องในการทำงานภายใต้กรอบกฎหมายต่อไป ทุกกรณีต้องพิจารณาอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อเรามีกฎระเบียบกำกับดูแล ก็ควรยึดตามหลักเกณฑ์ ดีลควบรวมทรูและดีแทค ไม่ใช่ดีลแรกในการควบรวมภายใต้ประกาศ กสทช. ปี 2561 โดยประกาศนี้ออกสมัยที่ผมเป็น กสทช.และเป็น กสทช.ฝั่งโทรคมนาคม และที่ผ่านมาก็มีถึง 9 ดีลแล้ว กรณีนี้ที่กสทช.ลงมติรับทราบพร้อมออกเงื่อนไข คือการปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมายนะครับ เพราะการรวมรวมธุรกิจระหว่าง ทรู กับดีแทค เป็นการควบบริษัท (Amalgamation) ตามประกาศ กสทช. ปี 2561 ที่กำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้โดยจัดทำรายงานส่งให้ กสทช. และรายงานการรวมธุรกิจต่อเลขาธิการ กสทช. ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนจดทะเบียนควบบริษัท และไม่ต้องขออนุญาตจากกสทช. ซึ่งกสทช.มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาด มาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 นอกจากนี้เงื่อนไขที่ออกมาก็เข้มข้นโดยผู้บริโภคได้ประโยชน์ และน่าจะนำมาใช้กับผู้เล่นทุกรายในอุตสาหกรรม เพื่อให้ตลาดมีความเท่าเทียมในกฏกติกาเดียวกัน

ดังนั้นหลังจากนี้ กสทช. ต้องออกระเบียบมารองรับ และต้องติดตามตรวจสอบให้การควบรวมกิจการครั้งนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน หากพบว่ามีประเด็นใดที่กระทบสิทธิ กสทช.ก็มีอำนาจเข้าไปกำกับดูแลและดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ส่วนข้อกังวลเรื่องการผูกขาดหรือเกรงว่าค่าบริการอาจสูงขึ้นนั้น ผู้ประกอบการทุกรายจะต้องเคารพกฎระเบียบ ไม่สามารถกำหนดราคาตามอำเภอใจได้ อีกทั้งเชื่อมั่นว่าตลาดยังมีการแข่งขัน

/*/*/*/*/*/*/*/*/