รมว.เกษตรฯ ลุยตรวจความพร้อมการป้องกันน้ำท่วมเพชรบุรีช่วงภาวะเสี่ยง กำชับ กรมชลประทานพร้อมปฏิบัติการ24ชั่วโมง ขณะ “อลงกรณ์” เสนอ4โครงการแก้น้ำท่วมถนนเพชรเกษม เร่งรัดพัฒนาระบบชลประทานพื้นที่ปลายน้ำชายทะเล
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน โดยมี นางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นายสมเกียรติ แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบุรี ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ หัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอบ้านแหลม อำเภอท่ายา งและ อำเภอชะอำในเพชรบุรี เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำและความพร้อมในการป้องกันอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี
โดย นาย เฉลิมชัย กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่มาติดตามแก้ไขปัญหาอุทกภัย จังหวัดเพชรบุรี และ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้นการทำงานเชิงรุกบูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อน 13 มาตรการ 5 แนวทาง พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง เพื่อความช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว จะต้องตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งวางเครื่องสูบน้ำประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ตลอดจนการบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ่างเก็บแม่ประจันต์และอ่างเก็บน้ำน้ำห้วยผากให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสมทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยในจังหวัด เพื่อการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวน 6 จุด ได้แก่ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณฝั่งซ้าย และ ฝั่งขวาของแม่น้ำเพชรบุรี ใน อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม จึงได้ทำการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณดังกล่าว และในพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นในจังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 17 ตำบล 6 อำเภอ รวมทั้งสิ้น 45 หน่วย และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 44 หน่วย รวมเครื่องมือเครื่องจักรจำนวน 89 หน่วย ดำเนินการขุดลอกวัชชพืชผักตบชวาในคลอง 19 คลองหลัก และติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องดันน้ำลงทะเลพร้อมปฏิบัติการทันทีด้านนายอลงกรณ์ รายงานว่า กรมชลประทานและจังหวัดเพชรบุรี ได้บริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าถึง 3 เดือนภายใต้เพชรบุรีโมเดลและนโยบายของรัฐมนตรีเกษตรฯ.โดยความร่วมมือจากหน่วยงานชลประทานทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมถึงจังหวัด อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุม และลงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมร่วมกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดเพชรบุรีมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ทั้งการเพิ่มความจุแหล่งเก็บกักน้ำ ขุดลอกคูคลอง จัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และผลักดันน้ำ เพื่อให้น้ำลงทะเลให้ไวที่สุด หากสามารถบริหารจัดการน้ำได้ดีในตอนต้น ก็จะสามารถป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ได้พร้อมกันนี้ ยังได้ให้ข้อเสนอสำหรับการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรี ดังนี้ 1. การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนเพชรเกษมทำให้การจราจรติดขัด รถเคลื่อนตัวได้ช้า เกิดปัญหาเป็นประจำในทุกๆปี ล่าสุดคือ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการขยายขนาดคลองส่งน้ำสายเพชรบุรี-หัวหินเลียบขนานถนนเพชรเกษมฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นคลองขนาดเล็ก 2 คลองให้เป็นคลองใหญ่ 1 คลองสามารถป้องกันน้ำท่วมถนนเพชรเกษมและเป็นคลองส่งน้ำในยามหน้าแล้ง
2. การปรับปรุงระบบส่งน้ำของเขื่อนเพชร ที่มีการก่อสร้างมาแล้วนานกว่า 60 ปี โดยให้มีการศึกษา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและขยายพื้นที่การเกษตรรวมทั้งแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ 3. โครงการพัฒนาระบบชลประทานในพื้นที่ปลายน้ำชายทะเล 43,000 ไร่ ตั้งแต่อำเภอชะอำ ท่ายาง เมืองและบ้านแหลมเป็นพื้นที่ขนานถนนคลองโคน-ชะอำซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมาตลอด 4.โครงการชลประทานตำบลโดยชุมชนเพื่อชุมชนทุกตำบลในเพชรบุรีโดยการสนับสนุนของกรมชลประทานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายกรมชลประทานรับไปพิจารณาดำเนินการ และให้ทุกหน่วยงานบูรณาการทำงานร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำและการความพร้อมเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยของจังหวัดเพชรบุรีต่อไป.