“อารี ไกรนรา” ในมุมที่ผมรู้จัก กับ ภารกิจ ผู้สมัคร ส.ส. ภท. สู้ศึก ลต.”เมืองคอน”

บ่ายของวันที่ 9 ตุลาคม 2565 ได้เจอ “อารี ไกรนรา” ส.ส.พรรคเพื่อชาติ ที่ร้านข้าวแกง “ครัวคนเคร็ง” อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช “พี่เห็นคนส่งภาพมาให้ว่าน้องนั่งกินปลาช่อนจีจิ้มน้ำส้มจากอยู่ร้านนี้ อยู่ไม่ไกลกันเลยตามมากินกัน” อารี เอ่ยเป็นสำเนียงใต้ พร้อมคว้าปลาช่อนจี ฉีกจิ้มน้ำส้มจาก ยัดเข้าปากทันที

ได้สนทนากับ “อารี” ถึงการตัดสินใจเดินเข้าสู่พรรคภูมิใจไทย “ในสมัยหน้าตัดสินใจแล้วว่า จะเข้าร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย โดยจะลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อด้วย เชื่อว่าการทำงานของพรรคภูมิใจไทย ตอบโจทย์ของคนใต้ เนื่องจากตนเองก็เป็นคนใต้ และอยากให้ภาคใต้มีการพัฒนาไปในทางที่สมควรจะเป็น พี่อายุมากแล้ว ช่วงบั้นปลายชีวิตขอทำงานให้บ้านเกิดบ้าง”
อารีบอกว่า ทำงานให้จังหวัดอื่น ภาคอื่นมามากแล้ว เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว พี่อายุ 70 แล้ว ขอทำงานให้นครศรีธรรมราช บ้านเกิดบ้าง ตระกูล “ไกรนรา” ของพี่ส่วนใหญ่อยู่ทุ่งใหญ่ อารีตัดสินใจว่า เลือกตั้งครั้งหน้าเดินออกจาก พรรคเพื่อชาติ และมาอยู่กับพรรคภูมิใจไทย บ้านเดิมที่เคยอยู่มาก่อน และเคยได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมัย เชาวรัตน์ ชาญวีรกูล นั่งว่าการอยู่ กล่าวได้ว่าเวลานั้น อารีใหญ่มาก คนไปขอพบต่อแถวยาวทุกวัน

กล่าวถึงอารี ผมได้รู้จักตั้งแต่สมัยอยู่ในรามคำแหง อารี เป็นเจ้าหน้าที่กองกิจการนักศึกษา เราในฐานะนักศึกษากิจกรรม วิถีจึงทำให้เจอกันบ่อยครั้ง เท่าที่รู้จัก อารีไม่ใช่คนโหดร้ายใจดำ แต่เป็นคนจิตใจนักเลง ช่วยได้ช่วย มีจิตใจที่เอื้อเฟื้อกับน้องๆ เป็นมือประสานสิบทิศ “อารี”ต่างหากที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำ
“พี่จะลงสมัคร ส.ส.”วันหนึ่ง อารีเอ่ยกับเพื่อนๆน้องๆ ทุกคนอ้าปากค้าง ถามกลับไปว่า “พี่ฮะนะจะลงสมัคร ส.ส.” แต่ พี่อารี กล่าวยืนยันว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.จริงๆ

“อารี” ลาออกจากข้าราชการในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เดินไปสู่สนามเลือกตั้ง ทั้งในนาม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย แต่ วาสนายังไม่ถึงเป็นได้แค่เกือบ แต่เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน มีการชุมชนทางการเมืองของ กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (นปช.) อารี ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าการ์ด นปช.ดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับแกนนำ และกลุ่มผู้ชุมนุม จึงทำให้ชื่อที่ปรากฏออกไปเหมือนเป็นคนโหดร้าย อำมหิต ถึงจะรับบทเป็นหัวหน้าการ์ดในสถานการณ์การชุมนุมที่ร้อนแรงได้ แต่จริงๆไม่ใช่ อารี ไม่เคยทำร้ายใคร เป็นคนลงมือห้ามปรามด้วยซ้ำ อารี เป็นนักเจรจา ท่ามกลางความขัดแย้งมากกว่า

ช่วงการชุมนุมแรงๆมีข่าวเล็ดลอดออกมาด้วยว่า “อารี” ขัดแย้งกับ “เสธฯแดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล อย่างรุนแรง เสธฯแดง กล่าวหา อารีว่า กินหัวคิวบ้าง งุบงิบเงิน ไว้ใช้เองบ้าง จนทำให้การ์ด บางส่วนไปอยู่กับ เสธฯแดง ซึ่งอารีก็ปฏิเสธเรื่องอมเงิน
เมื่อการชุมนุมสงบลง การเมืองเดินเข้าสู่สนามเลือกตั้ง “อารี” ได้ร่วมกับ “จตุพร พรหมพันธุ์-ยงยุทธ ติยะไพรัตน์” และเพื่อนฝูงตั้งพรรคการเมือง “เพื่อชาติ” ขึ้นมา โดยมี สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ เป็นหัวหน้าพรรค “อารี” ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ คราวนี้ “อารี” ได้เป็น ส.ส.สมใจ
แต่การก้าวเดินของพรรคเพื่อชาติ เต็มไปด้วยความขัดแย้ง แม้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2562 “ยงยุทธ-จตุพร” ก็ขัดแย้งกันหนัก จนต้องจับเข่าคุยกัน เพื่อให้ผ่านการเลือกตั้งไปให้ได้ และ เลือกตั้งเสร็จ “จตุพร”ก็เดินออกมา

จบการเลือกตั้งพรรคเพื่อชาติได้มา 5 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าผิดเป้าไปมาก กับมวลชนคนเสื้อแดง จำนวนมากใน “โซนเหนือ-อิสาน” แต่คะแนนไม่มากับพรรคเพื่อชาติ และ เสร็จศึกเลือกตั้ง ยงยุทธ เดินเกมยึดพรรคเพื่อชาติ จน “สงคราม” ต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค มีการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ “ติยะไพรัช” เข้ามายึดพรรคเต็มรูปแบบ “นางบุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์” อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พี่สาวของยงยุทธ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ ล่าสุดลูกสาวยงยุทธ “ปวิศรัฐฐ์ ติยะไพรัช” หรือ ฮาย ทายาททางการเมืองของ ยงยุทธ ติยะไพรัช ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคแทนแล้ว

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน “ตู่-จตุพร” น้องรักของ “อารี” ก็ทิ้งพรรคเพื่อชาติไปแล้ว “อารี” จึงต้องก้าวถอยออกไป และ ยึดหัวหาดพรรคภูมิใจไทย ที่กระแสในภาคใต้กำลังพุ่งแรง “อารี” ได้รับมอบหมายจาก”ดร.นาที รัชกิจประการ” ให้ดูแลพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้ง 9 เขตเลือกตั้ง และช่วยเหลือจังหวัดข้างเคียง เช่น กระบี่ พัทลุง สงขลา ด้วยความที่ “อารี” เป็นคนกว้างขวาง มีเครือข่ายมาก

ต้องจับตาดูบทบาทใหม่ในบ้านหลังเก่า “อารี ไกรนรา”จะช่วยให้ภูมิใจไทย ปักธงในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้หรือไม่ กับเป้าหมาย 3 เขตเลือกตั้งกับสนามยากของจังหวัด ที่มีประชาธิปัตย์ยึดครองพื้นที่มายาวนาน และเพิ่งจะมีพลังประชารัฐ เข้ามาแบ่งไปครึ่งหนึ่ง !

#นายหัวไทร #ภูมิใจไทย #อารีไกรนรา