“หมอแวร์” วอน! นักการเมือง อย่านำกัญชาทางการแพทย์ ต่อรองชีวิตผู้ป่วย

372

“หมอแวร์” รองคณบดีสถาบันแพทย์บูรณาการและเวชาศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต วอน นักการเมือง อย่านำกัญชาทางการแพทย์ มาเป็นเครื่องมือต่อรองกับชีวิตผู้ป่วย ชี้ทดลองใช้แล้ว สามารถรักษาผู้ป่วยหลายกลุ่มโรค ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

“หมอแวร์” หรือ พท.ป.แวสะมิง แวหมะ รองคณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต ในฐานะ แพทย์แผนไทยประยุกต์และแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา คลินิกนำร่องในการใช้กัญชาทางการแพทย์รักษากลุ่มโรคเรื้อรัง ที่ไม่สามารถใช้ยาเคมีในการรักษา เพราะว่าผู้ป่วยแต่ละรายที่มาพบ เป็นโรคเฉพาะกลุ่ม อาทิ มะเร็ง กลุ่มโรคปวด ปวดไมเกรน รวมถึง การปวดตามข้อต่างๆ โดย 4 ปีที่ผ่านมา คลินิกฯ ได้เก็บเคสศึกษาในคลินิกเอง ปรากฏว่า ผู้ป่วยเฉพาะกลุ่มมะเร็ง สอดคล้องมากกับงานวิจัย คือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก และที่เห็นได้ชัดอีกประการ คือ นโยบายกัญชา ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้เกี่ยวข้องเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ที่ทางคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มองเห็นคุณค่าของกัญชา รวมถึงคณะทำงานต่างๆ ที่คอยสนับสนุนเรื่องกัญชาทางการแพทย์“หมอแวร์” กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่ใช้กัญชาทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยมาเป็นเวลา 4 ปี เริ่มแรกคือ กัญชาวิจัยในผู้ป่วยในกลุ่มของโรคมะเร็ง บอกได้ว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาแบบชนิดหยดกัญชา ในผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้การนอนหลับดีขึ้นอย่างชัดเจน และวันไหนที่คนไข้ต้องทำคีโม ให้หยดน้ำมันกัญชาก่อนไปทำคีโม ผลข้างเคียงจากการทำคีโมแทบไม่มีเลย หลังจากนั้นได้ลองเข้าไปค้นหาข้อมูลงานวิจัยต่างๆ บอกตรงกันว่าคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับน้ำมันหยดกัญชา ไม่ว่าจะสูตรไหนก็แล้วแต่ ตามที่มีในประเทศไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดีเกือบทั้งหมด และคนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ล่าสุด กรมแพทย์แผนไทยได้เก็บข้อมูลมาจากจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 9,400 คน เก็บข้อมูลโดยใช้น้ำมันหยดกัญชา ไม่ว่าจะเป็นแบบการสกัดด้วยวิธีปัจจุบัน หรือสกัดแบบใช้น้ำมันมะพร้าว ก็แล้วแต่ โดยกรมแพทย์แผนไทย แบ่งการเก็บข้อมูลคือ กลุ่มแรกคือ กลุ่มมะเร็งระยะรุนแรง ระยะลุกลาม และระยะประคับประคอง  2.เก็บกลุ่มของอาการปวด ไม่ว่าจะเป็นไมเกรน 3.เก็บในกลุ่มพาร์กินสัน ปรากฏว่ามีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ ลดอาการปวด คุณภาพดีขึ้น กินอาหารดีขึ้น หลับสบายขึ้น สำหรับคนที่เป็นมะเร็งก็จะรู้สึกดีใจ ถึงแม้ว่าอาการจะไม่หาย แต่ผู้ป่วยก็มีกำลังใจแล้ว

“ สำหรับคนที่เป็นห่วงบอกว่ากัญชาเป็นอันตราย หรือจะเกิดปัญหาข้างเคียงหรือเปล่านั้น งานวิจัยจากกรมแพทย์แผนไทย ผลปรากฎว่า มีอาการข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงอยู่ 224 คน จาก 9,400 คน เฉลี่ยคิดแล้วมีอยู่ 2.4% ซึ่งน้อยมาก และอาการไม่ร้ายแรง และหายเอง แนววิจัยตรงกับประสบการณ์ที่ทำจริง ซึ่งเคยรักษาคนไข้ก็มีอาการแบบคอแห้ง ปากแห้ง มีวิธีโดยให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ หรือของหวานให้มากขึ้น หากถามว่าอันตรายร้ายแรงมีไหม บอกเลยว่ามีทุกยา อะไรที่เป็นสมุนไพร หรือยาเคมีก็แล้วแต่มีผลข้างเคียงทุกยา กัญชาไม่ได้บอกว่าไม่มีอันตราย อันตรายร้ายแรงก็มี แต่ไม่ถึงกับเสียชีวิต มีอยู่ประมาณ 14 คน ใน 9 พันกว่าคน เฉลี่ยแล้ว 0.4% น้อยมาก แต่ควบคุมได้ “

“หมอแวร์” ยัง กล่าวถึงเรื่องการเปิดกว้างของกัญชาด้วยว่า เมื่อไหร่ที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่เปิดเพื่อที่จะให้ผ่านนโยบายเท่าเฉยๆ ให้เปิดเพื่อทางการแพทย์ และเปิดเพื่องานวิจัย การจะเปิดได้คือ  ต้องปลดล็อกกัญชาให้เกิดเสรีมากขึ้น เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้บรรดาหมอที่สนใจเขาเห็นประโยชน์ของผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ของกัญชาในทางพาณิชย์  ซึ่งหมอจะเอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง และกลุ่มหมอเหล่านี้ไม่คุยเรื่องการเมือง สนใจเรื่องเดียวคือ อะไรก็ได้ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่ยาเคมีเอาไม่อยู่ อย่างเช่นผู้ป่วยมะเร็ง เขาปวดทรมาน ไม่กล้าไปโรงพยาบาลเพราะไปแล้วยังไม่ดีขึ้น เขาจึงต้องหาทางออก ซึ่งเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วยที่จะต้องหาทางออกในการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย ดังนั้นตัวเลือกสุดท้ายของเขาเหล่านั้นคือ กัญชา เพื่อลดอาการปวดได้อย่างไรก็ดี ถ้ากัญชาสามารถปลดล็อกเสรีได้ ตนอยากส่งเสริม เพราะเราอยู่กับผู้ป่วย เอาผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง และพร้อมสนับสนุนนโยบายปลูกกัญชา ครัวเรือนละ 6 ต้น 15 ต้น เพื่อที่เวลาชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยจะได้ใช้ และไม่ต้องเสียเงินจำนวนมาก ซึ่งประชาชนอีกหลายสิบล้านคนในประเทศไทยไม่ใช่คนรวย เขามีสิทธิ์เข้าถึงกัญชาเทียบเท่ากับคนรวย

“ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หมอใจสลาย เพราะว่าพ.ร.บ.กัญชา ถูกคว่ำ ถูกโยนทิ้งด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ทางการเมืองจะเล่นยังไงหมอไม่ได้สนใจ  ถึงแม้ว่ากฎหมายนี้ทางฝ่ายตรงข้าม หรือฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย บอกว่ายังไม่ชัดเจน ยังไม่สมบูรณ์ แต่สำหรับตัวหมอผู้ที่สนใจกัญชา ผู้ที่อยู่กับคลินิกกัญชาทางการแพทย์มา 4 ปี … พ.ร.บ.นี้หมอเริ่มศึกษาแล้วว่า ตั้งแต่ตั้งคณะกรรมาธิการ และคณะทำงานก็พยายามแก้ไขเรื่องที่เป็นข้อเสียทั้งหมด และทำครอบคลุมหมดแล้ว เพราะหมอเชื่อว่าคนที่อยู่ในกรรมาธิการทุกคน ก็ไม่อยากเห็นข้อเสียของกัญชา เพราะมันไม่ได้เกิดประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้นจึงตั้งกรรมมาธิการขึ้นมาเพื่อจะหาทางออกที่เห็นแย้ง และเป็นข้อที่เกินการควบคุมได้ แต่อะไรที่เห็นเป็นประโยชน์ ที่ทำให้เกิดคุณค่า ก็ช่วยสนับสนุนแล้วมันจะเดินได้ “

รองคณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต ยังกล่าวเพิ่มอีกด้วยว่า โดยส่วนตัวมองว่า “กัญชา” ไม่ใช่ยาเสพติด เพราะเปรียบเสมือนพืชสมุนไพรไทยทั่วๆ ไป กัญชาถ้าไม่ได้ถูกการกระตุ้นด้วยความร้อน หรือ ไขมัน จะไม่เปลี่ยนแปลงสารที่เป็นยาเสพติดใดๆ ออกมาเลย สารที่เป็นยาเสพติดของมันคือ THC คือมันทำให้เกิดอาการมึนเมา แต่ตัวต้นกัญชาจริงๆ ไม่ถูกการกระทำด้วยไขมัน ด้วยความร้อน แม้ผ่านความร้อนจะมีค่า THCA ซึ่งเป็นสารที่ไม่เกิดอาการมึนเมา ซึ่งสารนี้มีคุณค่ามหาศาลมาก เป็นสารตั้งต้นของการรักษาโรคมะเร็ง และโรคปวดอื่นๆ ไม่เมาก็รักษาโรคได้  อย่างไรก็ตาม ถ้าพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ถูกตัดทิ้งออก ชาวบ้านจะใช้ประโยชน์อย่างไร  ส่วนคนที่เป็นห่วงเรื่องของสันทนาการ มันไม่ใช่ปัญหา เราต้องเอาปัญหามาแก้ไข เอาประโยชน์มาใช้ให้กับประชาชนได้ห่างจากการทรมานก่อน ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาเชื่อว่าถ้าประชาชนเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้ผลักดันนโยบายนี้ แน่นอนว่า เรื่องแรกที่ผลักดันเพราะเห็นคุณค่ากัญชาทางการแพทย์ 100%

ล่าสุด แอปพลิเคชันปลูกกัญ มีคนลงทะเบียนมากกว่า 4 ล้านกว่าคน และมีการปลูกแล้วล้านกว่าราย แล้วถ้าพ.ร.บ.กัญชา นี้ถูกทิ้งถูกขว้าง และไม่เอามาทบทวน เหมือนฆ่าคน 4 – 5 ล้านกว่าคน แล้วถ้าพ.ร.บ.กัญชา นี้ กลับไปใช้รูปแบบเดิม คือ กัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนที่ปลูกทั้งหมดก็ต้องกลัวเรื่องของการถูกจับ ตรงนี้น่ากังวลมาก เรื่องนี้เราต้องมาหาทางออกให้ประชาชนที่เป็นคนไทยที่มีสิทธิ์เข้าถึงการใช้บริการ