ต้องทำงานเชิงรุก!”อนุทิน” มอบนโยบาย สธ. ขอบคุณบุคลากร มุ่งมั่นบริการปชช.

วันที่ 29 ก.ย.2565 ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กทม. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุม มอบนโยบายการดำเนินงานกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ 2566 พร้อมปาฐกถาพิเศษ “สุขภาพดี เศรษฐกิจมั่งคั่ง (Health for Wealth) และร่วมกับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขนายอนุทินกล่าวว่า การประชุมมอบนโยบายครั้งนี้เป็นปีสุดท้ายของรัฐบาล ซึ่งคนมักจะพูดกันว่าข้าราชการ จะเกียร์ว่าง แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นกับข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกคนทำงานร่วมกันมาจนเป็นทีมประเทศไทย สิ่งที่ต้องการส่งต่อคือความคิด และทัศนคติในการปฏิบัติงาน วันนี้ เราคุ้นชินกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal เพื่อป้องกันโรคระบาด แต่ในที่นี้ เราจะต้องพูดถึงวิถึใหม่ของการทำงานด้วย นับจากวันนี้ เราจะไม่ใช่กระทรวงผู้ “ตั้งรับ” แต่เราต้องทำงานเชิง “รุก” ให้มากขึ้น เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการนำพาประเทศ ให้ไปยืนอยู่แถวหน้าอย่างโดดเด่น ทั้งในทางสาธารณสุข และเศรษฐกิจ“จะทำอย่างนั้นได้ แรกสุดต้องเปลี่ยนมุมมองครับ ไม่ใช่มุมมองต่อคนอื่น แต่เป็นมุมมองต่อตัวเอง จากที่เคยมองว่า เราเป็นผู้รักษา ต้องมองว่า เราคือผู้ให้บริการจากที่เคยมองว่า เขาต้องเดินมาหาเรา ต้องเปลี่ยนเป็น เราต้องเดินไปหาเขา จากที่เคยนึกว่า เขาต้องมาขอ ต้องคิดว่า เราต้องรับใช้ จากที่เคยเป็น คนใช้เงิน ต้องเปลี่ยนเป็น คนสร้างรายได้ และจากที่เคยภูมิใจว่าเราดีพอแล้ว ต้องคิดเสมอว่า ยังดียังไงได้อีก”ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นโยบายของพระทรวงสาธารณสุข จากนี้ เน้นการขับเคลื่อน 5 ประการสําคัญ คือ ประการแรก การทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น โดยเพิ่มความครอบคลุมการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ด้วยแนวทาง “3 หมอ” คนไทยทุกครอบครัวมีหมอประจําตัวดูแล เมื่อเจ็บป่วยได้รับการรักษาและส่งต่อ เพิ่มสวัสดิการและพัฒนาศักยภาพ อสม.ให้เป็นหมอประจําบ้าน เชื่อมโยงบริการแบบไร้รอยต่อตั้งแต่ปฐมภูมิ ทุติยภูมิและตติยภูมิ ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ใช้การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ดูแลประชาชนที่บ้านและชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมาโรงพยาบาลประการที่ 2 ยกระดับการเสริมสร้างสุขภาพเพื่อคนไทยแข็งแรง โดยพัฒนาการสื่อสารเรื่องการดูแลสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ถูกต้อง ปลอดภัย ทันสมัย มีกิจกรรมและมาตรการสิทธิประโยชน์สร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนดูแลตนเองให้แข็งแรงทั้งกายและใจ ป้องกันการบิดเบือนหรือสร้างความเข้าใจผิด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางสาธารณสุขประการที่ 3 ผู้สูงอายุต้องได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและทั่วถึง โดยจัดให้มีการคัดกรองสุขภาพ ประเมินความเสี่ยงของโรค การป้องกันปัญหาสุขภาพ การดูแลระยะยาว สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต เช่น แว่นสายตา ผ้าอ้อม ฟันปลอม และจัดตั้งคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลทุกระดับให้เข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น รวมถึงดูแลด้านจิตใจและภาวะสมองเสื่อม ประการที่ 4 นำสุขภาพขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ สมุนไพรไทย กัญชา กัญชง ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ขยายโอกาสสู่การเป็นศูนย์กลางการบริการสุขภาพ (Health Hub) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประชาคมโลก ต่อยอดเศรษฐกิจเพิ่มรายได้แก่ประชาชนและประเทศ

และประการที่ 5 ข้อมูลสุขภาพต้องเป็นของประชาชนและเพื่อประชาชน โดยจะพัฒนาข้อมูลดิจิทัลสุขภาพที่ได้มาตรฐาน เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เชื่อมโยงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ ช่วยให้ประชาชนใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่อย่างต่อเนื่อง และรัฐใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น