เกษตรฯ ผนึก คมนาคม พัฒนา”โลจิสติกส์” ส่งออกสินค้าเกษตรฯไปอาเซียน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือ กระทรวงคมนาคม พัฒนาระบบ”โลจิสติกส์” ปั้นไทยเป็น ศูนย์กลางระบบตรวจสอบสินค้าเกษตร แก้ปัญหาการเน่าเสีย ก่อนส่งออกของอาเซียน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วม และ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนการส่งออก ระหว่าง ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กระทรวงคมนาคม กับ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมี นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายกิตติพงศ์ กิตติขจร ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมลงนาม ณ ห้องสุวรรณภูมิ แกรนด์ บอลรูม โรงแรมโนโวเทล สุวรรณภูมิ แอร์พอร์ตนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตร และสินค้าเน่าเสียง่ายของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจแห่งอนาคต ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งและการค้า และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ และสอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิต/กระจายสินค้าเกษตร หรือ สินค้าเน่าเสียง่ายสู่ตลาด จึงร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการพัฒนาระบบการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนส่งออก วัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้ง“ศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าทางการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทาง“ (Pre-Shipment Inspection Center : PSI) ให้เป็น One Stop Service โดยพัฒนากระบวนการตรวจสอบสินค้าเกษตร ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนขึ้นอากาศยาน เพื่อลดการถูกปฏิเสธ ณ ประเทศปลายทาง และเพื่อเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตและกระจายสินค้าเกษตรหรือสินค้าเน่าเสียง่ายสู่ตลาด ตลอดจนเป็นศูนย์กลางธุรกิจการบินและการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เบื้องต้นนำร่องจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ด่านสุวรรณภูมิ สามารถให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 65 เป็นต้นไป และอนาคตจะขยายไปสู่ด่านที่มีศักยภาพอื่น ๆ ต่อไปด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทยไปสู่ประเทศปลายทาง มักจะเกิดความเสียหาย เนื่องจากสินค้าเกษตรมีความอ่อนไหวและเน่าเสียง่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้ง 2 กระทรวงฯ จึงได้ร่วมกันพัฒนาศูนย์ PSI เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ลดเวลาในการตรวจสอบสินค้าเกษตรตามกระบวนการส่งออก ซึ่งเดิมกระจายไปหลายจุด ให้มารวมในที่เดียว โดยศูนย์ดังกล่าวได้นำความต้องการของประเทศคู่ค้ามาเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตร เพื่อลดปัญหาสินค้าเน่าเสียและถูกปฏิเสธจากประเทศปลายทาง สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบต้นทางก่อนการส่งออก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร มีหน้าที่ดูแลควบคุมในการตรวจสอบคุณภาพสินค้าพร้อมออกใบรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ดูแลในเรื่องการขนส่ง จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ทั้งนี้ ผลจากการตั้งศูนย์ PSI ณ ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะส่งผลให้มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2565 – 2566 เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นล้านบาท จากปี 2564 ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย จำนวน 7,625 ล้านบาท ซึ่งต่อไปการสั่งสินค้าเกษตร นำเข้า-ส่งออก จะสะดวกสบายต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นสำหรับสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย ที่ส่งออกผ่านด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปี 2564 ประกอบด้วย 1.กล้วยไม้ ส่งออกมูลค่า 1,865 ล้านบาท 2.ผลไม้สด ส่งออกมูลค่า 2,983 ล้านบาท และ 3.ผักสด ส่งออกมูลค่า 2,777 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 7,625 ล้านบาท นอกจากนี้ ในปี 2564 ด่านตรวจพืชท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวน 63,961 ฉบับ โดยเป็นการส่งออกกล้วยไม้ (ดอก) 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. สหรัฐอเมริกา 2. อินเดีย 3. ญี่ปุ่น 4. เกาหลี และ 5. จีน สำหรับการส่งออกผักมากที่สุดได้แก่ 1. ข้าวโพดฝักอ่อน 2. หน่อไม้ฝรั่ง 3. หอมแดง 4. ใบพลู และ 5. ตะไคร้ ส่งออกผลไม้สดมากที่สุด ได้แก่ 1. มะม่วง 2. ทุเรียน 3. มังคุด 4. เงาะ และ 5. มะละกอ