“ครูหยุย” ยก 8 เหตุผล ชี้ ชะตา กฎหมาย “กยศ.” ย้ำ ผู้กู้ ต้องมี สำนึกรับผิดชอบ

118

“ครูหยุย” วัลลภ ตังคณานุรักษ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ยกเหตุผล 8 ข้อ ก่อน พ.ร.บ.กยศ. จะเข้าสู่การพิจารณาของ วุฒสภาฯ ชี้ หากไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และ เสียค่าผิดนัดชำระ จะทำให้รายได้ กยศ.หายไป 6,000 ล้านบาท ย้ำผู้กู้ต้องมีความรับผิดชอบ

วันที่ 25 ก.ย. 2565 นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ “ครูหยุย” สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊ก “วัลลภ ครูหยุย ตังคณานุรักษ์” เกี่ยวกับกฎหมาย กยศ. มีเนื้อหาดังนี้…“นักข่าวถามผม “กฎหมาย กยศ.” ผ่าน ส.ส. จะมา ส.ว.แล้ว คิดอย่างไร ผมตอบว่า ต้องพิจารณาภาพรวมครับ คือ ที่ผ่านมา กยศ.

1.ให้ นร./นศ. กู้ไปแล้ว 6,284,005 ราย รวม 702,309 ล้านบาท ใช้หนี้หมดแล้ว 1,669,129 ราย ที่อยู่ระหว่างการใช้ 3,559,421 ราย และผู้กู้เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 68,787 ราย

2.มีรายได้เข้ามาต่อปี จากดอกเบี้ย 3,000 ล้าน จากค่าปรับ 3,000 ล้าน

3.มีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริหารจัดการมากถึง “สองพันล้านบาทต่อปี” ถ้าเอาตามร่างของ ส.ส. คือหลัก 3 ไม่
ไม่ต้องค้ำประกัน
ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย
ไม่ต้องเสียค่าปรับผิดนัด
รายรับที่ได้คืนมาหมุนเวียน จะหายไป 6,000 ล้านบาท

4.เรื่องเงินก็มีความสำคัญที่ต้องมีหมุนเวียนเพื่อคนรุ่นต่อไปจะได้มีกู้

5.เรื่อง “สำนึกรับผิดชอบ” น่าจะเป็นเรื่องใหญ่สุด ที่ผู้กู้จะต้องมี

6.ระบบบริหารจัดการใช้งบมหาศาล แต่ประสิทธิภาพน้อย

7.กระบวนการผ่อนชำระคืน จำเป็นต้องมีรายละเอียดตัวบุคคล เพื่อจะได้ร่วมกันช่วยเหลือดูแล

8.สถานศึกษาและมหาวิทยาลัย ต้องมีส่วนร่วมในการกระตุ้นจิตสำนึก นร./นศ. ที่กู้ยืม ให้มีความรับผิดชอบ”