ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน มีมติยกเลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” หลังประกาศใช้มานานกว่า 2 ปี พ่วงยุบ ศบค. มีผล 1 ต.ค.นี้
วันที่ 23 ก.ย.2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 12/2565 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร รวมทั้งบรรดาข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งที่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยมีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้
ก่อนหน้านี้ มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 เพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จนถึงปัจจุบันใช้มากว่า 2 ปี และมีการขยายอายุประมาณ 19 ครั้ง
นพ.อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทย ตัวเลขผู้ป่วยที่เข้ารักษามีประมาณ 800-1,000 คน ส่วนการตรวจ ATK มีการรายงานเข้าระบบ 13,000-14,000 คนต่อวัน แต่มีอาการที่ไม่รุนแรง จึงเป็นเหตุผลการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 จากโรคติดต่อร้ายแรง สู่โรคติดต่อเฝ้าระวัง แต่ยังไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น เพราะการประกาศเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้ “หากมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลไม่กังวล เพราะได้วางระบบไว้หมดแล้ว ที่ผ่านมาเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
นพ.อุดม กล่าวอีกว่า ศบค.ทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันได้ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ ไม่ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบ ศบค.ด้วย เบื้องต้นให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายงานเหมือนกับ ศบค. ให้กระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกันก่อน ในระหว่างรอการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ยืนยันว่าจะไม่เกิดสุญญากาศระหว่างรอกฎหมาย เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่รุนแรง กระทรวงต่างๆ มีการเชื่อมโยงการทำงาน
โดยก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ที่ประชุมมีมติยกเลิกการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายหลังจากจากคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้โควิด-19 จากที่เป็นโรคติดต่ออันตราย มาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป