กรมราชทัณฑ์ ร่อนเอกสารแจง “บุญทรง” ออกนอกเรือนจำ ร่วมงานศพมารดา

กรมราชทัณฑ์ ร่อนหนังสือชี้แจง “บุญทรง เตริยาภิรมย์” ออกจากเรือนจำ ไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพ มารดา สามารถกระทำได้ เป็นไปตามระเบียบ โดยเป็นการลากิจ เพื่อร่วมงานศพ บุพการี และ ได้ประสาน เรือนจำลำพูน และ ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ดูแลใกล้ชิด

วันที่ 20 ก.ย.2565 จากกรณีที่ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ นักโทษคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ได้ออกนอกพื้นที่เรือนจำฯ เพื่อไปร่วมพิธีฝังศพนางสุมาลี เตริยาภิรมย์ ซึ่งเป็นมารดาของนายบุญทรง โดยปัจจุบันถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม นั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้ออกเอกสาร ชี้แจงว่าการออกนอกพื้นที่เรือนจำฯ ของนายบุญทรง เพื่อไปร่วมงานศพดังกล่าว เป็นไปอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการลาของนักโทษเด็ดขาด พ.ศ. 2561 รวมถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการลาของนักโทษเด็ดขาด (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 เพื่อให้เป็นการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างมีมนุษยธรรม เป็นเครื่อง จูงใจให้ผู้ต้องขังประพฤติดี อยู่ในระเบียบวินัย เป็นผลดีต่อการปกครองและการบริหารงานของเรือนจำและทัณฑสถาน รวมถึงเป็นการให้โอกาสในการแสดงความกตัญญูและการไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ถึงแม้นายบุญทรง จะอยู่ในความสนใจของประชาชน แต่ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทั้งยังเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมและมีคุณสมบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเรือนจำกลางคลองเปรม มีอำนาจในการอนุญาตให้นายบุญทรง​ ได้ลากิจตามที่ร้องขอ ในระหว่างวันที่ 18 -20 ก.ย. 2565 โดยได้ประสานเรือนจำจังหวัดลำพูนและสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เพื่อประสานการเดินทางไปร่วมพิธีศพได้ โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำฯ ควบคุมอย่างใกล้ชิด และนำตัวกลับทันทีที่เสร็จภารกิจ

อย่างไรก็ตาม การลาและออกนอกพื้นที่เรือนจำดังกล่าว เป็นประโยชน์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 มาตรา 52 เมื่อนักโทษเด็ดขาดคนใดแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี ไม่เป็นผู้กระทำผิดวินัยในเรือนจำ มีความอุตสาหะ ความก้าวหน้าในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ โดยต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป และไม่ได้กระทำความผิดซึ่งเป็นที่สะเทือนขวัญหรืออยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งหากได้รับอนุญาตให้ออกไปทำกิจธุระแล้วอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสร้างความสับสนแก่ประชาชนได้ เมื่อมีความจำเป็นเห็นประจักษ์เกี่ยวด้วยกิจธุระสำคัญหรือกิจการในครอบครัวแล้วอาจได้รับประโยชน์ในการลา แต่ห้ามมิให้ออกไปนอกราชอาณาจักรและต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

โดยผู้ต้องขังทุกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์จะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาไม่เฉพาะแต่นายบุญทรงเท่านั้น และจะให้สิทธิ์เฉพาะการลาไปร่วมพิธีฌาปนกิจศพผู้ตายที่เป็น บิดา มารดา สามี ภรรยา และบุตรของนักโทษเด็ดขาดเท่านั้น โดยจะต้องมีใบมรณบัตรหรือหนังสือรับรองการตายมาเพื่อพิจารณาร้องขอ ส่วนการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ จะต้องคำถึงความปลอดภัยของนักโทษเด็ดขาดและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมเป็นหลัก และต้องมีเจ้าหน้าที่ทำการควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายได้