จับตา “รอยปริร้าว” ปม “กัญชา-กยศ.” ชนวน “ยุบสภาฯ” ก่อนเลือกตั้ง

130

ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ และ ร่าง พ.ร.บ.กยศ. กำลัง เป็น ประเด็นร้อน ที่ ”ภูมิใจไทย” เปิดหน้าประกาศกร้าว ดับเครื่องชน พลังประชารัฐ และ ประชาธิปัตย์ ลั่น“ไม่เกรงใจกันอีกแล้ว” หลัง พ.ร.บ.กัญชาฯ โดนคว่ำในวาระสาม กลายเป็นรอย”ปริร้าว” ที่ยากจะประสาน และ จะยิ่งจุดชนวนให้ลุกลามรุนแรงยิ่งขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

กรณี อนุทิน ชาญวีรกูล แสดงอาการ “นอตหลุด” ประกาศกร้าว “ไม่ต้องเกรงใจกันอีกแล้ว” หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่ เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ถูก สภาฯ วาระ3 โหวตคว่ำ ด้วยคะแนน 198 ต่อ 134 งดออกเสียง 12 และ ไม่ลงคะแนน 1 โดยให้กลับไปทบทวนใหม่

ทั้งนี้ คะแนนเสียงข้างมาก 198 เสียงนั้น นอกจาก พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งทำหน้าที่ปกติ ตามบทบาทฝ่ายค้าน ยังมี เสียงจาก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ พลังประชารัฐ (พปชร.) รวมอยู่ด้วยที่สำคัญ ต้องยอมรับความจริงว่า การ “ปลดล็อค” กัญชา พ้นยาเสพติด เป็น นโยบาย “หัวแก้ว หัวแหวน” ของ พรรคภูมิใจไทย ที่ชูขึ้นมาเป็น ประเด็นหาเสียง “พูดแล้วทำ” เช่นเดียวกับ นโยบาย ” ปลดหนี้-ไม่มีค่าปรับ” ของ กองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ของ ภูมิใจไทย

มาว่ากันเรื่องของ พ.ร.บ.กัญชาฯ ก่อน โดยข้อเท็จจริง เรื่องนี้ มีการ “ปลดล็อค” พ้น บัญชียาเสพติดแล้ว โดย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 9 มิ.ย.2565 หลังผ่านการพิจารณา สภาฯ วาระ 1-2 เตรียมเข้าสู่การพิจารณาในชั้น วุฒิสภาฯ แต่ดันโดนคว่ำในวาระ3

ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท.ประธานคณะกมธ.ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ ต้องการเข้ามาดูแลการใช้ กัญชาฯ ให้ถูกต้องเหมาะสม คุมเข้มกว่าเดิม เข้าใจง่ายกว่าเดิม “ยกตัวอย่าง วันนี้บนถนนข้าวสาร มีร้านขายช่อดดอก ด้านหลังมีห้องสูบ แต่ในกฎหมายตาม พ.ร.บ. นี่ห้ามเลย คุณต้องขออนุญาต แล้วมันจะไม่มีห้องสูบเลย เพราะเขาไม่อนุญาต แล้วในกฎหมายมันคุ้มเข้มมาก ตามกฎหมายที่ถูกคว่ำ จะมาขายใกล้วัด ใกล้โรงเรียนไม่ได้เลย”
จึงกลายเป็นปมร้อนทางการเมือง ที่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุว่า “เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่สนับสนุนกันเอง เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องเกรงใจกันอีกแล้ว”

และกลายเป็นประเด็นพาดหัวข่าวตัวไม้ บนสื่อสิ่งพิมพ์ สะท้อนรอย “ปริร้าว” รุนแรง ในช่วงปลายรัฐบาล อาจส่งผลต่อการตัดสินใจ “ยุบสภา” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กำลังรอลุ้น คำวินิจฉัย วาระนายกฯ8ปี ของ ศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 30 ก.ย.นี้

สาธิต วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคปชป. หัวหอกที่เป็นทั้งผู้อภิปรายคัดค้าน และ เคลื่อนไหวต่อต้านมาคลอด ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็น เนื้อหาของกฎหมาย หากสภารีบตรากฎหมาย โดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่กระทบความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจาก พรรคประชาธิปัตย์มีเพียง 40 เสียงเท่านั้น ที่เห็นด้วยกับการถอนร่างกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นมติของสภาเช่นเดียวกับ ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำเรื่องนี้ ไม่ใช่ประเด็นการเมือง เมื่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ก็เอาการบ้านมาส่ง แต่ ส.ส.มองว่า การบ้านที่ให้ไปคือการตัดกางเกงขาสั้น แต่การบ้านที่เอามาส่งคือ กางเกงขายาว เพราะเดิมมี 40 กว่ามาตรา แต่ปรากฏว่ากลับไปกลับมา 90 กว่ามาตรา ซึ่งเป็นการเพิ่มมาตราที่เกินผิดปกติอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หากมีเพิ่ม 4-5 มาตราเป็นเรื่องที่พอรับได้ แต่การเพิ่มมา 40 กว่ามาตราเป็นเรื่องผิดปกติ หากปล่อยให้มีการพิจารณาจะเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะจะต้องมีการแก้ไขจำนวนมาก ดังนั้นการโหวตให้ไปทบทวนใหม่จึงเป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะเมื่อเอากลับเข้ามาพิจารณาใหม่จะไม่เสียเวลามาก แต่ถ้าแก้ในสภา 40 กว่ามาตราจะเป็นเรื่องยากมาก

ปัญหารอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ ระหว่าง”ภูมิใจไทย VS ประชาธิปัตย์” จากกรณี การขวางลำ ชิงเหลี่ยมการเมือง เรื่องร่างพรบ.กัญชา กัญชงฯ ต้องดูกันว่า จะบานปลายจนทำให้ สถานการณ์ระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาล จะบานปลาย จนส่งผลต่อสั่นคลอนต่อเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ?

กระนั้น ก็ตาม ความขัดแย้ง รอยร้าว ดังกล่าว วงการเมืองยังเชื่อว่า ไม่น่าจะบานปลายถึงขั้น มีพรรคหนึ่ง พรรคใด “แตกหัก-ถอนยวง”ถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล เพราะไม่มีใคร อยากทุบหม้อข้าวตัวเอง ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล กุมกลไกอำนาจรัฐ ช่วงเลือกตั้ง

แต่หากสุดท้าย ถ้าร่างพรบ.กัญชาฯ หากยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เรื่องนี้อาจจะเป็น “ระเบิดเวลา”ของพรรคร่วมรัฐบาลที่รออยู่หลังสภาฯ เปิดประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย.65 ที่อาจทำรัฐบาลถึงขั้น”วงแตก”!

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา ที่ถูก “แช่แข็ง” ยังไม่ผ่าน การพิจารณาวาระสาม ของ สภาฯ ยังลุกลาม ส่งผลต่อ เกษตรกร ทั่วประเทศ ที่ได้ลงทุน ลุงแรง ปลูกต้น กัญชา กัญชงดร.โยธิน ไชยธงยศ อายุ 70 ปี ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน เกษตรอุตสาหกรรม 61 บ้านหนองแซง ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม เปิดเผยว่า บ้านหนองแซง ถือเป็นวิสาหกิจชุมชนแห่งเดียวของ จ.นครพนม หรือแห่งเดียวของประเทศไทยก็เป็นได้ ที่ได้รับอนุญาติถูกต้อง “ส่วนรายอื่นๆ จากการศึกษาข้อมูลพบว่ายังเป็นวิสาหกิจชุมชนเถื่อน มีจำนวนมากกว่า 300 แห่งทั้งประเทศ โดยเฉพาะ จ.นครพนม มีมากเกือบ 100 แห่ง ที่ยังไม่มีการรองรับทางกฎหมาย บางรายมีการลงทุนล่วงหน้าไปก่อน อาทิ สร้างโรงเรือน เตรียมพื้นที่ปลูก รวมถึง ดำเนินการปลูกนำร่องล่วงหน้า ถือว่าผิดกฎหมายทั้งหมด”

ในส่วนของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน บ้านหนองแซง ถือว่าไม่ได้รับผลกระทบ โดยการผลิตในรอบต้นปี 2565 ขออนุญาตผลผลิต 2 รอบต่อปี ครั้งละประมาณ 3,200 ต้น เนื้อที่ 2 ไร่ ภายในโรงเรือมาตรฐาน สามารถส่งผลผลิตขาย ทั้งใบ ราก ช่อดอก และลำต้น รวมมูลค่ารอบละ 3 -4 ล้านบาท มีสมาชิก 30 ราย ราคาช่อดอกกิโลกรัมละ 15,000 บาท รากกิโลกรัมละ 20,000 บาท ใบกิโลกรัมละ 10,000 บาท และลำต้นกิโลกรัมละ 1,000 บาท ถือว่ามีราคาที่ชัดเจนตามกลไกตลาด แต่หากมีการปล่อยให้มีการผลิตแบบผิดกฎหมาย จะส่งผลกระทบแน่นอน

“ฝากถึงรัฐบาลต้องหาทางออก ช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ยังไม่สามารถขออนุญาตปลูกได้ และยังเป็นวิสาหกิจชุมชนเถื่อน รวมถึงชาวบ้านที่ปลูกตามครัวเรือน เพราะหากปล่อยไว้จะเป็นนโยบายขายฝัน สุดท้ายประชาชน ไม่ได้ประโยชน์ และ ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องไปศึกษาหาทางออก ยิ่งร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ถูกคว่ำตกจากการพิจารณาสภาฯ ทำให้ส่งผลกระทบหนัก สำหรับเกษตรกรที่มีการลงทุนล่วงหน้าไปก่อน ต้องแบกภาระต้นทุน จะประสบปัญหาขาดทุนตามมา เพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมาย กลายเป็นวิสาหกิจชุมชนเถื่อน” ดร.โยธิน กล่าว

อีกประเด็นร้อน คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย ที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องการแก้กฎหมาย ให้ “ปลอดดอกเบี้ย” และ “ไม่มีเบี้ยปรับผิดนัดชำระ” จากเดิม ที่มีอัตราดอกเบี้ย ประมาณ ร้อยละ 3-5
“ผมเห็นว่าข้อเท็จจริง เราควรให้เด็กเรียนฟรีด้วยซ้ำ แต่เมื่อทำไม่ได้ ก็ให้ กยศ.ออกเงินให้ก่อน แต่ไม่ควรมีดอกเบี้ย หรือ เบี้ยปรับให้ยุ่งยาก เมื่อเรียนจนบมีงานทำใก็ให้ผ่อนชำระแค่เงินต้นก็พอ” เป็นความเห็นของ นายอนุทิน ชาญวีรกูลขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาล ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ พปชร. ปชป. ไม่เห็นด้วย แสดงความเป็นห่วง จะกระทบต่อ วินัยการเงิน การคลัง ในขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ต่างจาก พ.ร.บ.กัญชาฯ ตรง ที่ ได้ผ่านการพิจารณาวาระ3 ของสภาฯ แล้ว อยู่ในขั้นตอน ส่งต่อไปยัง วุฒิสภา
มองกันตามตรง เรื่องนี้เป็น นโยบาย “ประชานิยม ” ชัดเจน และ ในช่วงปลายรัฐบาล ใกล้เลือกตั้งใหม่ หากผ่านออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้สำเร็จ จะเป็นประเด็น “ชูธง” ให้ พรรคภูมิใจไทย นำไปหาเสียง เรียกคะแนนนิยมอย่างเต็มที่

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ระบุว่า หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านวุฒิสภา จะต้องมีการประเมินกันใหม่เกี่ยวกับการบริหารเงินกองทุนในอนาคต เนื่องจากภายใต้ร่างกฎหมายใหม่นี้ จะทำให้รายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับสูญไปหมด นอกจากนี้ ยังมองว่าหากกองทุนยังเก็บดอกเบี้ยได้ต่อไป กองทุนก็จะมีความคล่องตัวมากขึ้น และเป็นการต่อยอดให้แก่เด็กรุ่นต่อๆ ไป ” ไม่ว่าจะมีการยกเลิกการเก็บดอกเบี้ยหรือไม่ วินัยการเงินยังเป็นเรื่องสำคัญ”ชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. ระบุว่า หากกฎหมายผ่านทั้ง 2 สภา กองทุนต้องมาพิจารณาอีกทีว่า เงินที่มีอยู่และรายได้ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่มองในแง่ดี กฎหมายนี้ อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้กู้เงินหลายคน ที่มีความต้องการชำระหนี้ แต่กังวลเรื่องเบี้ยปรับ ดังนั้น หากไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับอาจทำให้ผู้กู้หลายคนต้องการชำระหนี้มากขึ้น

แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีการเก็บดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กองทุนจะขาดรายได้จากส่วนนี้ไป ปีละประมาณ 6 พันล้านบาท และ กองทุนยังมีต้นทุนในการบริหารจัดการ 2 พันล้านบาทต่อปี หมายความว่าถ้ามีเงินออกมากกว่าเงินเข้า เงินในกองทุนก็จะร่อยหรอ ซึ่งเป็นปัญหาต่อการบริหารจัดการแน่นอน !

ทั้งนี้ ปัจจุบันผู้ผิดนัดชำระหนี้ กยศ. อยู่ที่ 2.5 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท โดยในแต่ละปีกองทุน มีเงินหมุนเวียนอยู่ที่ 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในปี 2565 มีผู้ชำระเงินเข้ามา 2.7 หมื่นล้านบาท

กยศ. กำลังเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อชี้แจง ต่อ วุฒิสภา เกี่ยวกับผลกระทบและข้อเท็จจริงต่างๆ โดย ตามกระบวนการกฎหมาย อาจต้องใช้เวลาพิจารณาร่างกฎหมายนี้ใน 1 เดือน เนื่องจากเป็นกฎหมาย ด้านการเงิน แต่ที่สำคัญ ในทางกลับกัน การยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะเป็นปัจจัยหลัก ทำให้รุ่นพี่ มีทางเลือก โดยเลือกที่จะนำเงินรายได้จากการทำงาน ไปจ่ายหนี้ส่วนอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ที่มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ บัตรเครดิต จากธนาคาร สาถบันการเงินต่างๆ แทนที่จะมาชำระให้ กยศ. ที่ไร้ภาระ ดอกเบี้ย และ เบี้ยปรับ

ซึ่งถือว่า เป็นการสวนทางจาก สภาพความเป็นจริง !!