“อลงกรณ์” นำ กรมชลประทาน ระดมเครื่องสูบน้ำ ช่วยกทม.ดันน้ำลงทะเลอ่าวไทย

“อลงกรณ์” เผย ”กรมชลประทาน” เร่งช่วย กทม. แก้น้ำท่วม ระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ดันน้ำลง ”เจ้าพระยา-บางปะกง-นครนายก” ก่อนลง อ่าวไทย รวมปริมาณสูบน้ำ 2 เดือนเกือบ 2 พันล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์2เท่า

วันที่ 17 ก.ย.2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และ ติดตามการบริหารจัดการน้ำของสถานีสูบน้ำตามแนวคลองชายทะเล ที่ สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 3 (คลองด่าน) และ สถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ ว่า กรมชลประทานเร่งช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการตามข้อสั่งการของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุดด้วยการระดมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 220 เครื่องที่ติดตั้งตามสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำโดยสูบน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตก สูบน้ำลงแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกงทางฝั่งตะวันออกและสูบลงอ่าวไทยทางทิศใต้ วันละ 45 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 525 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ณ วันที่ 16 กันยายนและกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีก ซึ่งหากรวมปริมาตรน้ำที่กรมชลประทานผันน้ำตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม ถึงวันนี้ มีจำนวนถึง 1,893 ล้านลูกบาศก์เมตรเปรียบเทียบ เท่ากับปริมาณน้ำกว่า 2 เท่าครึ่งของความจุเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ถือเป็น ระบบระบายน้ำหลักของกรมชลประทานในการช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพมหานครและ สมุทรปราการ.

ทั้งนี้ในการปฏิบัติภารกิจของที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ.และคณะประกอบด้วย นายณฐกร สุวรรณธาดา นายพัฐนันท์ แสงรัฐวัฒนะ นายวิษณุศักดิ์ จิรกฤติยากุล คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. ดร. ดุสิต พันธุ์เสือ นายธวัชชัย ทรงพัฒนาศิลป์ นายชิโนทัย ลักษณ์กุลมาศ นายจิรายุ แก้วสีดา และนายเฉลิม จันทร์เภา ทีมงานพรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และ ติดตามการบริหารจัดการน้ำสถานีสูบน้ำตามแนวคลองชายทะเล ที่สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 3 และสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีฝ่ายบริหาร กรมชลประทาน นาย ยงยส เนียมทรัพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 นายสมเดช ศรีวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร นายฐิติกร ศรีนิติวรวงศ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรปราการ พร้อมด้วย หัวหน้าฝ่าย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรายงานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันออกเพื่อระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยโดยสถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 3 มีเครื่องสูบน้ำขนาด 15 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 4 เครื่อง ประสิทธิภาพการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็นปริมาตรน้ำวันละ 5.18 ล้าน ลบ.ม. ช่วยระบายน้ำจากสถานีสูบน้ำหนองจอก และสถานีสูบน้ำประเวศน์บุรีรมย์มาลงคลองพระองค์ไชยานุชิตจนถึงสถานีสูบน้ำคลองด่านระบายออกสู่อ่าวไทย

ส่วนสถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์ มีเครื่องสูบน้ำขนาด 15 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 5 เครื่อง ประสิทธิภาพการระบายน้ำ 75 ลบ.ม.ต่อวินาที คิดเป็นปริมาตรวันละ 6.48 ล้าน ลบ.ม. ผันน้ำจากคลองประเวศน์บุรีรมย์ ในเขต กทม. ระบายลงมาตามแนวดิ่งผ่านคลองลาดกระบัง คลองบางโฉลง คลองจระเข้ใหญ่ มาลงคลองสำโรง และระบายลงคลองเจริญราษฎร์ เพื่อระบายออกสู่อ่าวไทย โดยทั้ง2สถานีสูบน้ำเป็นส่วนหนึ่งสถานีสูบน้ำ 9 สถานีของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ชป.ที่11 กรมชลประทาน