“สดศรี” ชี้ช่อง ศาลรธน.เบิกความ กรธ.ทุกคน คลายปมวาระ 8 ปี”ประยุทธ์”

79

“สดศรี สัตยธรรม” อดีต กกต.ชี้ช่องศาลรธน.เบิกความ กรธ.ทุกคน ให้ความเห็นเจตนารมณ์ ม.158-264 คลายปมวาระ 8 ปี”บิ๊กตู่” เปรียบบ้านมีปัญหาต้องถามคนก่อสร้าง เชื่อสร้างความเข้าใจผลคำวินิจฉัยมากขึ้น

วันที่ 12 กันยายน 2565 นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวถึงกรณีพิจารณาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นว่า เราจะเห็นได้ว่า กรธ.ทั้ง 20 คน ยังลงความเห็นในเรื่องการนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ จากการให้สัมภาษณ์และการชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นการชี้ในเรื่องที่ถือว่าเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว และข้อขัดแย้งดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่พยานบุคคลยังมีความสับสนกันอยู่

“กรณีนี้เหมือนการสร้างบ้านเมื่อบ้านเกิดปัญหา คนที่จะให้คำตอบได้อย่างดีที่สุดคือช่างที่ก่อสร้างบ้าน ซึ่งในกรณีนี้ ก็คือ กรธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น ในเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนน่าจะให้ กรธ.ทั้ง 20 ท่าน เป็นพยานศาล ในการให้การเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเหตุผลอะไรถึงมีการบัญญัติมาตรา 158 เรื่องวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ และมาตรา 264 ด้วย ซึ่งการที่ กรธ.ไปให้การต่อศาลน่าจะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ทั้งศาลรัฐธรรมนูญจะได้รับฟังเจตนารมณ์จากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะเกิดผลดีกว่าที่จะต้องไปตีความโดยศาล” นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี กล่าวอีกว่า หากมีชี้แจงจากตัว กรธ.เองต่อศาลน่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญถึงมีคำวินิจฉัยในทางใดทางหนึ่ง และจะต้องเป็นการพิจารณาโดยเปิดเผย ซึ่งการเบิกความก็คงกินเวลาไม่มาก เนื่องจากอธิบายเพียงมาตรา 158 มาตรา 264 และมาตราที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรงคงจะใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการเบิกความแต่ละท่าน

“นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าในการประชุม กรธ.น่าจะมีการบันทึกเทปไว้ ดังนั้นการถอดเทปการประชุมประกอบกับการเบิกความ กรธ.น่าจะยิ่งเกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นน่าจะเป็นผลดีและเป็นการที่จะเคลียร์ข้อกฎหมายนี้ได้ชัดเจนจากผู้ยกร่างเอง โดยที่ศาลไม่ต้องไปตีความอะไรเลย แต่ให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้แจงเหตุผลในการบัญญัติกฎหมาย เพราะรายงานการประชุมเป็นเพียงบทสรุป ซึ่งจะสู้รายงานจากปากของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้” นางสดศรี กล่าว

นางสดศรี กล่าวยืนยันว่าไม่ใช่การชี้นำศาล แต่เป็นเรื่องที่เคยเป็น กรธ.แล้ววิธีการปฏิบัติใน กรธ.ก็ทำมาอย่างนี้ คือแต่ละมาตราก็จะมีการพูดกัน หากเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการลงมติ เสียงข้างมากว่าอย่างไรก็จะเป็นไปอย่างนั้น แต่พอเกิดปัญหาแล้วกลายเป็นว่ามีคนไปพูดอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน และเกิดความไม่แน่ใจในผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้หากศาลสามารถให้ กรธ.ซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมายสามารถอธิบายเจตนารมณ์ของกฎหมาย ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมและประชาชน