“เฉลิมชัย” พร้อมด้วย “นิพนธ์” ประกาศยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล ความมั่นคงทางอาหาร ในพื้นที่จังหวัดชายแเดนใต้ หวังยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
วันที่ 2 ก.ย. 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุมการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล และการทำงานในระดับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมรับฟังความก้าวหน้า พร้อมมอบนโยบายการดำเนินการ ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถนนสิโรรส อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พร้อมด้วย พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีเศษ ที่ผ่านมาศอ.บต., กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สถาบันการศึกษา, ภาคเอกชนและภาคประชาชน ร่วมมือผลักดันการทำงานเชิงนโยบายและการปฏิบัติในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถยกระดับอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรให้สามารถ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมที่จะยกระดับงานทั้งหมดเข้าสู่กรอบ”ความมั่นคงทางอาหาร”ต่อไป สอดคล้องกับเมื่อช่วงที่ผ่านมา ที่ศาลากลางจังหวัดยะลา ในช่วงการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้นายนิพนธ์ ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ปัจจุบัน การสร้างให้คนมีอาชีพ เร่งรัดให้คนมีรายได้ จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน โดยการสร้างความมั่นคงทางด้านพื้นที่ควบคู่กับความมั่นคงทางด้านอาหาร เพราะพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้เหมาะสมกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว และถ้าหากเราทำเรื่องเกษตรให้เข้มแข็ง ก็จะเกิดกระจายรายได้ที่ดีที่สุด เราต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้ยางกิโลละ 60-70 บาท คนที่มีสวนยางได้ประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งผมก็เชื่ออย่างนี้ ถ้าเกษตรกรมีรายได้ดี ก็จะเกิดเงินหมุนเวียนในตลาด แม่ค้าขายของได้ นี่คือเศรษฐกิจพื้นบ้าน
อย่างในเรื่องประมง ซึ่งความจริงกระทรวงเกษตรก็มีกรมประมงอยู่ด้วย ซึ่งถ้าดูตั้งแต่การวางปะการังเทียมอย่างไร จะดูแลอนุรักษ์กันอย่างไร เช่นจากปัตตานีเข้ามาถึงยะลา แต่ยะลาไม่มีประมง ก็ให้หันมาเลี้ยงปลาในกระชังดูว่าจะได้หรือไม่ ถ้าได้จะเลี้ยงที่ไหน นี่คือการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปลากระชัง เมื่อมาถึงประมงก็ต้องมีนาข้าว มีแปลงผลไม้ ซึ่งยะลานี่ถือว่าทำการเกษตรได้เลย เป็นศูนย์กลางของเมืองที่จะผลิตอาหาร ซึ่งก็ยังเป็นห่วงในเรื่องของนาร้าง และถ้าสามารถผลิตข้าวได้เอง ก็จะไม่ต้องเอาข้าวนอกพื้นที่เข้ามา เพราะสามารถมีข้าวรับประทานได้เอง ดังนั้นเกษตรต้องวิจัยให้ได้ว่าพื้นที่ตรงนี้ ถ้ามีน้ำจะปลูกข้าวชนิดใดได้บ้าง ซึ่งก็ต้องฝากเกษตรจังหวัดไปดูในเรื่องนี้
“เราจะต้องช่วยแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน เพราะผมต้องการให้ จังหวัดชายแดนภาคใต้พื้นที่ตรงนี้ เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งนั่นก็คือที่ดินกับน้ำต้องพร้อม ระบบชลประทานจึงต้องมีการพัฒนา เพื่อไปสนับสนุนกิจการนาร้าง ซึ่งมีอยู่ร่วมสองแสนกว่าไร่ ว่าเกษตรกรขาดอะไร ดังนั้นเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอจึงต้องมีการสำรวจว่า พื้นที่ที่เป็นนาร้างในจังหวัดยะลามีกี่แสนไร่ เพื่อจะดูว่าถ้าจะเอาน้ำไปสนับสนุนต้องทำอย่างไร และรัฐต้องลงทุนเท่าไหร่ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาในพื้นที่ที่จะแปลงนาร้างให้เป็นนาข้าว รวมถึงแปลงเกษตร จึงขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วยเพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่” นายนิพนธ์ กล่าว