“นิพนธ์” อาสา เป็นหัวเรือใหญ่ กระจายอำนาจ”จุรินทร์” ฝาก4ข้อ ช่วยกันขบคิด

“นิพนธ์”รับเป็นหัวเรือใหญ่ให้ปชป.สัมมนาใหญ่ ทิศทางกระจายอำนาจ “จุรินทร์” ฝาก 4 ข้อช่วยกันขบคิด ยกฐานะหัวเมืองใหญ่ “รูปแบบ-ความสัมพันธ์” ควรจะเป็นอย่างไร ?

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวเปิดงานการสัมมนา “พรรคประชาธิปัตย์กับทิศทางการกระจายอำนาจ หนึ่งในอุดมการณ์หลักของพรรคประชาธิปัตย์” โดยมี “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ในฐานะรองหัวหน้าพรรคปปช. จัดขึ้น

“การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรค เป็น 1 ใน 10 ของอุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์” … “การที่ประเทศ หรือพรรคจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้ การกระจายอำนาจเป็นหลักที่สำคัญยิ่ง พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการตามอุดมการณ์กระจายอำนาจต่อไป”

“จุรินทร์” ย้ำว่า ในยุคที่พวกเรามีบทบาททางการเมือง มีผลงานด้านกระจายอำนาจที่เป็นรูปธรรมมากมาย เช่น การยกฐานะสภาตำบลเป็น “นิติบุคคล” คือ องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. การยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็น “เทศบาล” และการเกิดขึ้นของ เทศบาลเมือง เทศบาลนครอีกมากมาย

“นี้คือสิ่งที่สัมผัสได้ในการมีบทบาทนำในการดำเนินการ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรปกครองรูปแบบพิเศษ เช่น เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร”

น่าเสียดายเวลานี้สมาชิกสภาเขต หรือ สข.ในกรุงเทพฯ ถูกยุบไปแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ พรรคประชาธิปัตย์ผลักดันให้เกิดขึ้น แต่จะดำเนินการให้กลับมาให้ได้

ผู้นำพรรคปชป. เล่าถึงยุครัฐบาล “ชวน 2” ได้มีการออกพระราชบัญญัติแผน และ ขั้นตอนในการกระจายอำนาจ ซึ่ง “ชวน หลีกภัย” ได้ให้แนวทางหลักไว้ 3 ด้าน คือ กระจายงาน กระจายคน และ กระจายเงิน ไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งหมายถึงการกระจานอำนาจ กระจายโอกาส และกระจายเงิน

นโยบายเหล่านี้หลายเรื่องตนเขียนมากับมือ ฉนั้นแนวทางลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชนจะต้องดำเนินต่อไป พร้อมฝาก เป็นคำถาม ให้วงสัมมนาค้นหาคำตอบ อันจะนำไปเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป

ประเด็นแรกคือ เมืองขนาดใหญ่ เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา เมืองการค้าชายแดน ควรจะยกระดับเป็นมหานครรูปแบบใหม่อย่างไร หรือ ควรจะเป็นรูปแบบใด ที่เป็นรูปธรรมปฏิบัติได้จริง ผู้บริหาร สภาฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง เช่น ภูเก็ต ซึ่งยังมีทั้งส่วนที่เป็นเมือง และส่วนที่ยังไม่เป็นเมือง จะยกฐานะขึ้นทั้งเกาะ หรือ บางส่วน รูปแบบจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับเชียงใหม่ จะยกฐานะขึ้นทั้งจังหวัด หรือ บางส่วน รูปแบบควรจะเป็นอย่างไร

ประเด็นที่สอง คือรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องถิ่น ทั้งอำนาจ นโยบาย และ การมีส่วนร่วมของประชาชน ควรจะเป็นอย่างไร มีการเสนอให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จะเกิดช่องว่างอย่างไร รูปแบบจะเป็นแบบไหน ความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ถ้าภูมิภาค ยังจำเป็นต้องนำนโยบายของรัฐบาลไปปฎิบัติ ถ้ายุบเลิกไปจะทำอย่างไร

ประเด็นที่สาม จะทำอย่างไรให้มีการกระจายเงินจากส่วนกลางไปสู่ส่วนท้องถิ่นให้เพียงพอต่อความต้องการ ในการแก้ไขปัญหาพัฒนาท้องถิ่น หรือ ถ้าเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ อาจจะเรียกว่า “ประกันรายได้ให้ท้องถิ่น” ประกันรายได้ให้ท้องถิ่น เพียงพอต่อความต้องการ เช่น อาจจะเพิ่มการจัดเก็บภาษีบางชนิด

ประเด็นสุดท้าย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น กับ ท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็มีการพูดถึงกันว่า ถ้า ยกฐานะบางองค์กร จะทำให้ต้องยกเลิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือไม่ และถ้าไม่ยกเลิก ความสัมพันธ์จะเป็นอย่างไร

จริงๆภารกิจมีการแบ่งแยกชัดเจนอยู่แล้ว แต่ยังมีข้อคลางแคลงใจกันอยู่ จะจัดความสัมพันธ์อย่างไร จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร

#นายหัวไทร