ย้อนรอย!! ปฏิบัติการ เลื่อยขาเก้าอี้ “บิ๊กตู่” กระเด็นพ้น นายกรัฐมนตรี

ย้อนรอย ปฏิบัติการ เลื่อยขาเก้าอี้ “พล.อ.ประยุทธ์” พ้น เก้าอี้ นายกรัฐมนตรี ก่อนโดนศาลรธน.สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่ขึ้นเป็นผู้นำประเทศจาก อำนาจรัฐประหาร เบ็ดเสร็จทั้งหมด 5 ครั้ง แต่สุดท้ายได้ผ่านสมรภูมิคำวินิจฉัย รอดมาได้ทุกครั้ง จนกระทั่งถึงวันนี้

ครั้งที่ 1 เมื่อ 27 สิงหาคม 2562 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเอกฉันท์ให้ส่งเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 46 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เพื่อให้วินิจฉัยว่าการที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่นายภานุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นผู้ยื่นคำร้องหรือไม่ จากนั้น 11 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา

ครั้งที่ 2 เมื่อ 28 มิถุนายน 2562 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันเข้าชื่อ 101 คน ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าเข้าข่าย”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” เป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง จากนั้น 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น”เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

ครั้งที่ 3 เมื่อ วันที่ 9 มีนาคม 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่ เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ กรณีอาศัย”บ้านพักหลวง” จากนั้น 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีเหตุให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้มีสิทธิที่จะพักอาศัยในบ้านพักรับรอง เนื่องจากเคยเป็นอดีตผู้นำสูงสุดของกองทัพบกมาก่อน และไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง ดังนั้น ความเป็นนายกฯ จึงไม่สิ้นสุดลง พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปี

ครั้งที่ 4 วันที่ 8 เมษายน 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย พร้อมยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้ายื่นคำร้องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 (5) ประกอบมาตรา 184 (2) และมาตรา 186 หรือไม่ สืบเนื่องจากภายหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา โดยคำร้องดังกล่าวมีการเข้าชื่อกันของ ส.ส.จำนวน 75 คน

จากการออกคำสั่ง ม.44 ในเดือนเมษายนปี 2562 เพื่อขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้เอกชนออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่ในขณะนั้นระยะเวลาของสัมปทานยังคงเหลืออีก 10 ปี อีกทั้งยังมีการประกาศใช้กฎหมายร่วมทุนในเดือนมีนาคม 2562 แต่กลับไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดการผูกขาดโครงการและไม่ได้มีการแข่งขันของเอกชนนั้น

1 กรกฎาคม 2564 การยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นอยู่ในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่าในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 แต่ผู้ถูกร้องได้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญไปแล้วนับ แต่วันที่คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ได้

ครั้งที่ 5 วันที่ 17 ส.ค. 2565 พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน ยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี “นายก 8 ปี ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญลงความเห็นรับคำร้องดังกล่าวไว้เพื่อรอการวินิจฉัยต่อไป.