“อนุทิน” ต้อนรับ รมว.สาธารณสุข มาเลย์ เยี่ยมชมโรงงานผลิตยาและสารสกัดกัญชา

89

รมว.สาธารณสุขมาเลเซีย เยี่ยมโรงสกัดกัญชา องค์การเภสัชกรรม เพื่อศึกษาการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ “อนุทิน ” ปลื้ม พร้อมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ หนุนมิตรประเทศเดินหน้าดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้

วันที่ 23 สิงหาคม 2565 ที่ องค์การเภสัชกรรม อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ได้นำนาย Khairy Jamaluddin ABU BAKAR รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสาธารณสุข มาเลเซีย เยี่ยมชมโรงงานผลิตยาและสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรมนายอนุทิน กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีจากมิตรประเทศ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ซี่งทางมาเลเซียเอง กำลังสนใจ สำหรับนโยบายของไทย เชื่อเหลือเกินว่า การคลายล็อกกัญชา ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และความมั่งคั่งให้กับประชาชน นี่คือยุคสมัยของการแสวงหาโอกาส เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กับรัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซีย เคยพบกันที่การประชุมสมัชชาอนามัยโลกที่เจนีวา เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชา กระทั่งทางมาเลเซียติดต่อเข้ามา เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม และประเทศไทย พร้อมให้ความร่วมมือ เพราะเรามีความรู้เรื่องกัญชา ที่สั่งสมมากว่า 300 ปี อันที่จริง หากย้อนกลับไป กัญชาคือส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย มีผสมอยู่ในอาหาร และยา แผนโบราณของไทย เราไม่ใช่มือใหม่เรื่องนี้ กลับกัน เรามีองค์ความรู้มหาศาลที่พร้อมถ่ายทอด กับทุกฝ่ายที่สนใจทั้งนี้ มองว่านโยบายมีความคืบหน้าไปมาก ปัจจัยความสำเร็จ อยู่ที่การสนับสนุนของรัฐบาล องค์ความรู้ที่แข็งแกร่ง ไปจนถึงการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ที่รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซียได้มาศึกษาที่องค์การเภสัชกรรม คือ องค์ความรู้ของไทย ที่ยอดเยี่ยม ต่อยอดมาจากการค้นคว้าวิจัย ที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน

ต้องขอบคุณองค์การเภสัชกรรม ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือหน่วยงานสำคัญ ในการพาไทยต่อสู้กับโควิด-19 มาจนถึงวันนี้ และกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้กัญชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากนั้น เรายังมีหน่วยงานสำคัญ คือ กรมการแพทย์แผนไทย และแพทย์ทางเลือก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การอาหารและยา ที่ช่วยกัน กำกับดูแลการใช้กัญชา เพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชน ปัจจุบัน ได้นำกัญชามาใช้อย่างหลากหลาย และสารสกัดจากกัญชา ก็อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ในระบบหลักประกันถ้วนหน้า เป็นทางเลือกด้านการรักษาพยาบาลของคนไทยนายอนุทิน กล่าวย้ำว่า ประเทศไทย พร้อมแลกเปลี่ยน ความรู้และประสบการณ์กับทางมาเลเซียในนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ไปจนถึงความร่วมมือในอนาคต ในการพัฒนานโยบายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แน่นอนว่า กับทางมาเลเซีย การเดินหน้านโยบายกัญชาไม่ใช่งานง่าย แต่ทางไทย ก็พร้อมเป็นทั้งกำลังใจ และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างมิตรประเทศ

ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า ยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาชมการปลูกและการสกัดกัญชา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วย ทางมาเลเซีย จะนำเรื่องนี้ ไปพิจารณา เพราะเป็นสัญญาปที่ให้ไว้ ในการมุ่งหาทางพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วสำหรับองค์การเภสัชกรรมนั้น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ชนิดหยดใต้ลิ้น 4 สูตร นำมาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มโรคที่กรมการแพทย์กำหนด ได้แก่ สูตร THC เด่น, สูตรที่มี THC และ CBD สัดส่วน 1:1, สูตรที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร หรือ THC FORTE สำหรับใช้รักษาเสริมภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะท้าย และสูตร CBD เด่น สำหรับผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก

ซึ่งมีการนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยจากคลินิกกัญชานำร่อง 12 เขตสุขภาพ ก่อนขยายสู่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ นอกจากนี้ กรมการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ ยังได้ทำการศึกษาและขยายขอบเขตการใช้ในกลุ่มโรคต่างๆ ให้คลอบคลุมยิ่งขึ้น เช่น โรคพาร์กินสัน และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เป็นต้น ล่าสุดสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ทั้ง 4 สูตร บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ.2564องค์การเภสัชกรรมได้ขยายกำลังการผลิตวัตถุดิบช่อดอกกัญชาจากการปลูกในรูปแบบ Indoor พื้นที่ 100 ตารางเมตร ไปยังพื้นที่ปลูกขององค์การเภสัชกรรม อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ในการปลูกรูปแบบโรงเรือน Green House และทำการศึกษาสภาวะการปลูกที่เหมาะสมในแต่ละโรงเรือนควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้ผลผลิตกัญชาทางการแพทย์ที่มีปริมาณสารสำคัญตามกำหนด และเพื่อให้ได้วัตถุดิบที่มีมาตรฐานเมดิคัลเกรดแท้จริง

รวมถึงพัฒนาพื้นที่ปลูกกัญชาขนาด 1,000 ตารางเมตร ในรูปแบบ Indoor ณ อาคารฝ่ายสมุนไพรและเภสัชเคมีภัณฑ์ องค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อีกหนึ่งแห่ง อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบปลูก คาดว่าเริ่มปลูกได้ประมาณต้นปี 2566 ปลูกกัญชาได้ประมาณ 5,000 ต้นต่อปี เป็นผลผลิตช่อดอกกัญชาจำนวน 1,000 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ยังเตรียมรองรับวัตถุดิบจากกัญชง สำหรับนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยา เวชสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยร่วมกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ 12 แห่งทั่วประเทศ

ในการปลูกกัญชงคุณภาพตามมาตรฐานที่องค์การเภสัชกรรมกำหนด ร่วมกับโครงการหลวงและสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำเมล็ดกัญชงมาสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อเป็นส่วนประกอบในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้ว 2 รายการ ได้แก่ ชาใบกัญชงพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ SIBANNAC Hemp Seed Oil Bedtime Lip Care ผลิตจากน้ำมันเมล็ดกัญชง ในรูปแบบลิปบาล์ม ที่มีส่วนช่วยลบเลือนริ้วรอย และให้ความชุ่มชื้นแก่ริมฝีปาก