“อนุทิน ” ชี้แจง กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ปม การทุจริตใน สปสช. “คลินิคอบอุ่น- รพ.เอกชน” สุมหัวโกงเงินหลวง กว่า300ร้อยล้านบาท ลั่น ต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด ขณะ” เสรีพิศุทธ์” ชื่นชม เป็นรองนายกฯคนเดียว ที่ให้ความร่วมมือมาชี้แจง กมธ.ด้วยตนเอง
วันที่ 18 สิงหาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศขณะนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช., นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง บอร์ด สปสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการธิการป้องกันและปรายปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นประธาน โดยนายอนุทิน ได้ชี้แจงความคืบหน้ากรณีปัญหาทุจริต คลินิกชมชุนอบอุ่น-รพ.เอกชน มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท ระบุว่า
เรื่องนี้ ตอนที่เกิดเหตุ ตนยังไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่ทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ต้องขอบคุณการให้ข้อมูลของนายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ยกมาพูดในสภา ระหว่างการอภิปรายงบประมาณปี 2562 ซึ่งในฐานะรัฐมนตรี ตกใจ ไม่คิดว่าว่าจะมีใครกล้าทำ จึงได้ไปเร่งถามกับ สปสช.ในยุคนั้น และ ทราบว่า มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ที่สุดแล้ว ตนได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนเรื่องนี้ มีนาย, นายจิรวุสฐ์ เป็นประธาน และได้เรียกข้อมูลทั้งหมดมาทำความเข้าใจ พบความผิดปกติ ตั้งแต่ การเขียนให้ประชาชน ซึ่งมีความดันปกติ ให้กลายเป็นมีความดันสูงไป ต้องเรียกให้มารักษา แล้วไปเรียกเก็บเงินกับ สปสช. ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง มาสอบสวนช่วยกัน และ ได้ดำเนินคดี มีการยกเลิกสัญญากับคลินิกที่มีปัญหา ส่วนคณะกรรมการ สปสช. ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ ขอให้ท่านลาออกจากตำแหน่งไป เพื่อให้การดำเนินการสอบสวนมีความสะดวก ที่สุดแล้ว เราสามารถนำเงินมาคืนรัฐได้เป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท ใกล้เคียงกับที่มีการโกงออกไป จากนั้นมีการบอกว่าให้จบเรื่องนี้ เพราะได้เงินคืนแล้ว แต่ตนและผู้บริหารหลายท่าน มองว่าไม่ได้ มันคนละเรื่อง ทำผิดก็ต้องรับโทษทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานอ้างอิงข้อมูลจาก นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง บอร์ด สปสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขอันเป็นเท็จ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ระบุว่า จากกรณีดังกล่าว พบการทุจริตกว่า 1 ล้านรายการ มีสถานพยาบาลที่เข้าข่ายความผิด ดังนี้ คลินิก 177 แห่ง รพ. 37 แห่ง รวมทั้งสิ้น 214 แห่ง โดยคลินิกเวชกรรม ใน 214 แห่งนั้น พบว่า เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นมีการเบิกจ่ายเข้าข่ายทุจริต 176 แห่ง และรพ.เอกชน 35 แห่ง รวมทั้งสิ้น 211 แห่ง
นอกจากคลินิกชุมชน ทางอนุกรรมการได้ตรวจสอบคลินิกทันตกรรม ในส่วนกทม. 79 แห่ง พบว่า 77 แห่งมีการเบิกจ่ายเกี่ยวกับทันตกรรมป้องกันโรค ซึ่งมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 324 ล้านเศษที่เบิกจากสปสช. แต่รวมค่าเสียหายการตรวจสอบ และค่าอื่นๆที่ สปสช.เสียไปกับการตรวจสอบเป็นเงิน 691 ล้านบาท เมื่อตรวจพบแล้ว ทางอนุกรรมการฯ ก็ให้ดำเนินการทั้งหมด โดยร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบทั้งหมดแล้ว ส่วนค่าเสียหายต่างๆ ทั้งหมดเป็นเงิน 691 ล้านบาท ทางสปสช.จะไปร้องเรียกค่าเสียหายแก่หน่วยบริการที่กระทำความผิด หากไม่ได้ก็ต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อไป
ส่วนผู้ที่กระทำผิดที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นเป็นผู้ประกอบกิจการสถานพยาบาล หรือ เจ้าของ หรือนิติบุคคล ที่มีกรรมการผู้จัดการทั้งหมด ต่อมาพบ มีชื่อเจ้าพนักงาน ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะพยานหลักฐานโยงไปถึงกรรมการ และอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) กทม.
การดำเนินความผิด นอกจากแจ้งความทางอาญา และเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ยังส่งเรื่องให้ทาง กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเข้าไปตรวจสอบสถานพยาบาล ว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ อีกหรือไม่ พร้อมไปกับการยกเลิกสัญญา โดยได้มีการแจ้งยกเลิกการขึ้นทะเบียนหน่วยงานเหล่านี้แล้ว และมีการจัดให้ประชาชนที่อยู่ในสิทธิไปอยู่ในสถานพยาบาลอื่นต่อไป
ทางด้าน พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ประธานกรรมาธิการ กล่าวชื่นชม นายอนุทิน ที่มีความตั้งใจจริงจะกำจัดการทุจริตในสปสช. และ จะสนับสนุนการดำเนินคดีผู้กระทำความผิด พร้อมยังเปิดเผยว่า นายอนุทิน เป็นรองนายกรัฐมนตรี คนแรก คนเดียว ที่ให้ความร่วมมือกับกรรมาธิการ มาชี้แจงข้อสงสัย ตอบคำถาม ด้วยตนเอง