“จรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาลรธน. ให้ความเห็น ว่าด้วยการตีความปม 8 ปีนายกฯ ชี้ ศาลฯจะขอ เอกสารที่ยกร่างกฎหมาย เจตนารมย์ มาประกอบการพิจารณา รวมถึง ต้นร่างคณะกรรมการร่างรธน.(กรธ.) เชื่อใช้เวลาไม่นาน
วันที่ 13 ส.ค.2565 นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการวินิจฉัยคำร้องคดีต่างๆ ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงที่ผ่านมาว่า เมื่อศาลฯรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว หากเป็นคำร้องที่ขอให้ตีความในประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายฉบับต่างๆ ทางสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา เพื่อขอให้ส่งเอกสารบันทึกรายงานการประชุมของคณะกรรมาธิการฯ ที่ยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว รวมถึงเอกสาร หนังสือแนวทางความต้องการ หรือ เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งหากมี ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขอให้รัฐสภาส่งมาให้ด้วย มาประกอบการพิจารณา
แต่ส่วนใหญ่การยกร่างพระราชบัญญัติทั่วไป จะไม่มีการทำหนังสือบันทึก จะมีแต่เฉพาะบันทึกเจตนารมณ์ในการยกร่าง ซึ่งถือเป็นหลักปฏิบัติกันมาตั้งแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญรวมถึงหากมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการทำบันทึกเจตนารมณ์ประกอบไว้ด้วย ทำให้เวลาเกิดกรณีมีปัญหาในการตีความรัฐธรรมนูญ ก็มักจะต้องขอทั้งบันทึกเจตนารมณ์และรายงานการประชุมของสภาฯ -วุฒิสภา -คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณายกร่างพรบ.ในฉบับนั้นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้วินิจฉัย เพื่อดูว่า ตัวบทที่เขียนไม่ชัดเจนดังกล่าวแนวทางควรเป็นไปในทิศทางใด
“แต่ก็ไม่ได้ถือเป็นข้อยุติเด็ดขาดอะไร ตามที่อยู่ในบันทึกเหล่านั้น เพราะต้องดูประกอบ บริบท บทบัญญัติในมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวโยงกันประกอบด้วย ต้องดูบทเฉพาะกาลประกอบด้วย และบางครั้งต้องนำหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ มาประกอบการวินิจฉัยตีความด้วย ดังนั้นจึงไม่มีใครบอกได้แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร บ่อยครั้งในปัญหายากๆ ความเห็นของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนก็จะแตกเป็นสองทางบ้าง สามทางก็ยังเคยมี กรณีที่ยากๆ เช่นนั้นก็ต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นคำวินิจฉัยของศาล นี้คือแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติกันมา”อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
เมื่อถามย้ำว่า หมายถึงการวินิจฉัย อาจไม่จำเป็นต้องดูจากบันทึกการประชุมของคณะกรรมการหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่ยกร่างกฎหมายแต่ละฉบับใช่หรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า เวลาดูบันทึกรายงานการประชุมของรัฐสภา บางครั้งพออ่านปุ๊ปมันพอเห็นเลย ว่าเรื่องนี้ควรต้องเป็นไปในทิศทางไหน แบบนี้มันก็ง่าย แต่บางครั้งตัวบันทึกรายงานการประชุมของรัฐสภา แม้แต่บันทึกเจตนารมณ์ที่ทำกันไว้ก็ดี บางครั้ง มันก็ไม่ชัดเจน โดยหากชัดเจนมันก็ง่าย แต่หากไม่ชัดเจน มันก็มองได้หลายแง่หลายมุม ก็ต้องหาทางออกที่ละเอียดลึกซึ่งยิ่งไปกว่าการดูที่สองเครื่องมือข้างต้น
ถามต่อไปว่า หากดูแล้วไม่เคลียร์ อาจใช้วิธีที่ศาลอาจทำหนังสือสอบถามความเห็นไปถามคนที่ยกร่างโดยตรงให้ตอบได้หรือไม่ อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยทำมาแล้วตอนช่วงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ทำหนังสือถามไปถึงมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรธ.และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตเลขานุการกรธ. นายจรัญกล่าวว่า ไม่ได้เอาที่ตัวบุคคลเป็นหลัก แต่จะต้องเอาที่มติของคณะกรรมการ เพราะการเขียนกฎหมายออกมา ไม่ได้เขียนโดยคนๆเดียวคนใดคนหนึ่ง แต่ทำโดยคณะกรรมการ ก็ต้องว่ากันตามมติที่เป็นความเห็นร่วมกัน แล้วบางครั้งมันก็มีเสียงข้างมากเสียงข้างน้อย เรื่องจึงไม่ง่ายนัก แต่หากมีมติชัดเจนเลยเป็นเอกฉันท์ให้เป็นอย่างไร มันก็ค่อนข้างง่าย คือต้องเอามติกรรมาธิการ ไม่ใช่เอาความเห็นของคน
ถามย้ำอีกว่า หากอดีตกรธ.ไม่ได้มีมติออกมาอย่างเป็นทางการในการเขียนมาตรา 158 (เรื่องวาระแปดปีนายกรัฐมนตรี) แล้วมีข้อสงสัยถ้าทำความเห็นไปถึงนายมีชัย ที่เป็นอดีตประธานกรธ.เลย หากนายมีชัย ทำความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ความเห็นดังกล่าวถือว่ามีน้ำหนักในการวินิจฉัยหรือไม่ นายจรัญกล่าวว่า “ก็มีน้ำหนักพอสมควร แต่ไม่ได้หมายความว่า น้ำหนักมากกว่าประเด็นอื่นๆ”
มองว่าคำร้องคดีนี้หากยื่นไปแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยจบเร็วหรือไม่ เพราะเป็นแค่การพิจารณาข้อกฎหมาย ไม่ได้เปิดห้องพิจารณาคดี อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่า ผมก็ว่าคงเร็ว เว้นแต่ว่าหากศาลอยากจะฟังรายงานการประชุมที่รัฐสภาส่งมา รวมถึงบันทึกเจตนารมณ์ประกอบให้มันรอบคอบ ก็ต้องขอไปก่อน แล้วก็ให้ทุกฝ่าย ที่มีหลายฝ่าย ศาลก็อาจรอให้คนที่เหมือนกับเป็นตัวแทนของแต่ละฝ่าย ทำความเห็นเข้าไปให้ศาลดู จะได้พิจารณาอย่างรอบคอบและตัดสินได้โดยไม่ขาดข้อมูล โดยหากศาลดูข้อมูลครบทุกด้านแล้ว จุดที่ถูกต้องเป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุดอยู่ตรงไหน ศาลก็คงตีความไปที่จุดนั้น
อนึ่ง รัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคสอง ที่นายจรัญ ระบุไว้มีบทบัญญัติดังนี้ “รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไป ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม”