พระราชทานอภัยโทษ ราชทัณฑ์เผย 8 หมื่นผู้ต้องขังเฮได้ลดวันต้องโทษ -ปล่อยตัวทันที 22,822 ราย อธิบดีคุกชี้ รอบนี้บิ๊กเนม ‘เทพไท – ผู้กำกับโจ้- บุญทรง’ ไม่เข้าหลักเกณฑ์อภัยโทษ
วันที่ 12 ส.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พ.ศ.2565
ทั้งนี้ ผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือ ถูกกักขังไว้ในสถานที่ หรืออาศัยที่ศาล หรือทางราชการกำหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับติดต่อกันไปจนวันที่ศาลออกหมายสั่งหรือลดโทษ หรือนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งปล่อยหรือลดโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ผู้ทำงานบริการสังคม หรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ และผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ
นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกับ มติชนออนไลน์ ว่า สำหรับจำนวนผู้องขังที่เข้าหลักเกณฑ์ปล่อยตัว และลดโทษแล้วปล่อยตัวออกจากเรือนจำมีจำนวน 22,822 คน และได้รับการลดโทษแต่ยังคงต้องจำคุกต่อในเรือนจำมีจำนวน 80,791 ราย รวมมีผู้ต้องขังที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา 2565 ฉบับนี้จำนวน 103,613 ราย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในรอบนี้มีกลุ่มรายชื่อนักการเมืองอย่าง นายเทพไท เสนพงศ์ นายบญทรง เตริยาภิรมย์ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล เข้าหลักเกณฑ์ลดโทษหรือไม่ นายอายุตม์ กล่าวว่า ในกลุ่มผู้ต้องขังที่เป็นรายชื่อบิ๊กเนมหรือนักการเมือง หรืออดีตผู้กำกับในคนคดีดังนั้นจะไม่ได้รับสิทธิการลดโทษ เนื่องจากยังคงจำคุกไม่ถึง 1ใน 3 ของโทษ ซึ่งพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษฯ ฉบับนี้ได้ระบุหลักเกณฑ์ชัดเจน หรือต้องจำคุกมา1ใน3 ของโทษ หรือ 8 ปี ต่อให้มีอายุ 70 ปี ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์ 1 ใน3
ส่วนกลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกานี้ คือ 1 นักโทษเด็ดขาด ลงโทษประหารชีวิตที่เคยได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว และได้รับโทษจำ คุกมาแล้วยังไม่เกินสิบห้าปี และมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม 2 ผู้ต้องโทษคดียาเสพติดตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเกินแปดปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ภายหลังพระราชกฤษฎีกา 2565 บังคับใช้ 3.ผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำและมิใช่นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม 4 นักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ชั้นต้องปรับปรุง หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก โดย ขณะนี้กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาด ที่ควบคุมในเรือนจำทั่วประเทศ จำนวน 213,092 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 269,267 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 1สิงหาคม พ.ศ.2565