แผนสกปรก ตีรวนยื้อ ให้สภาล่ม ฟื้นสูตรหาร100 พปชร.ส่งสัญญาณขานรับ

สะพัด! แผนสกปรกฟื้นสูตร 100 หาร ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลแตกเป็นเสี่ยง พปชร.ส่งสัญญาณให้ ส.ส.ลงชื่อมาสภาแต่ไม่ร่วมประชุมเพื่อ ขณะ ส.ส.บางส่วนลงพื้นที่ร่วมงานกำนันผู้ใหญ่บ้านดีกว่า

วันที่ 8 ส.ค.2565 ความเคลื่อนไหว ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ก่อนการประชุมรัฐสภาวันที่ 10 ส.ค. ที่จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. … ที่มีการคาดการณ์กันว่าองค์ประชุมสภาจะล่ม เพราะต้องการยื้อไม่ให้พิจารณากฎหมายดังกล่าวได้ทันตามกรอบ 180 วัน ในวันที่ 15 ส.ค. เพื่อจะทำให้ร่างตกไปและต้องกลับไปใช้ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยรัฐบาล ที่ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหารด้วย 100 ปรากฏว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น เมื่อวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาได้มีการส่งสัญญาณเป็นรายบุคคลว่าไม่ต้องเดินทางร่วมประชุมรัฐสภา และไม่ต้องเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุม เพราะไม่ต้องการให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันดังกล่าวได้ และให้ร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ในวันกำนันผู้ใหญ่บ้านไปเลย ขณะที่ ส.ส.แบบแบ่งเขตหลายคนตัดสินใจที่จะไม่เดินทางมาร่วมประชุม เพราะต้องอยู่ในพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน ที่เป็นโอกาสสำคัญในการพบปะผู้นำท้องถิ่นและประชาชนแบบพร้อมเพรียง เนื่องจากใกล้ถึงช่วงเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.พปชร.บางคนกังวลกรณีที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย และกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. … ระบุจะยื่นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เอาผิดฐานจงใจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง จึงจะใช้วิธีมาลงชื่อเข้าร่วมประชุมในตอนเช้า แต่ไม่แสดงตนในตอนนับองค์ประชุม เพื่อป้องกันไม่ให้ถูก ป.ป.ช.เอาผิดในภายหลัง และไม่ต้องการให้ตัวเองถูกนำชื่อไปประจานว่า สมาชิกรัฐสภาคนใดบ้างทำให้องค์ประชุมล่ม

ขณะเดียวกัน มีแกนนำรัฐบาลประสานไปยังพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค เพื่อนัดแนะในลักษณะเดียวกันว่าไม่ต้องเดินทางมาร่วมประชุมในวันดังกล่าว แต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วน ได้ทักท้วงว่าไม่อยากให้ใช้วิธีการนี้ เพราะจะทำให้ชื่อเสียงสภาเสื่อมเสีย ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ใช้เผด็จการรัฐสภาเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเห็นว่าควรปล่อยไปตามกระบวนการก่อน คือ พิจารณาให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นส่งให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่ง เชื่อว่าที่สุด กกต.จะยืนยันร่างแรกของตัวเองคือ คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยสูตรหาร 100 วิธีการนี้จะไม่ถูกครหาและไม่เสี่ยงต่อการถูกร้องดำเนินคดี ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแก้ปัญหาด้วยการส่งสัญญาณให้ ส.ส.ของพรรคไปลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่หากมีการนับองค์ประชุมจะไม่แสดงตน หรือไม่ลงมติโหวตแทน.