ปชป. ผลักดัน จชต. เป็นพื้นที่มั่นคงอาหาร ชูยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด”

รองหน.พรรค ประชาธิปัตย์ ประกาศผลักดันจังหวัดหวัดชายแดนใต้ เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ “เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด” สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตปชช.ในพื้นที่ ก้าวข้ามความขัดแย้ง

วันที่ 6 สิงหาคม 2565 ที่จ.ปัตตานี นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ประชาธิปัตย์พร้อมที่จะประกาศผลักดันจังหวัดหวัดชายแดนใต้ให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ยุทธศาสตร์ เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด โดยตั้งใจจะให้ทุกจังหวัดของชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เพื่อการบริโภคในพื้นที่บริโภคภายในประเทศ และเป็นครัวของโลก โดยเฉพาะประชากรมุสลิมกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก

นายนิพนธ์ กล่าวว่า จากการศึกษาและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับประชาชนในหลายพื้นที่พบว่าความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรได้ จึงต้องส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ผลผลิตที่สอดคล้องความต้องการของตลาด อย่างหลากหลาย รวมทั้งด้านปศุสัตว์ พร้อมทั้งการจะพลิกนาร้างให้เป็นนาข้าว ร่วมสามแสนไร่ให้เป็นนาข้าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราจะจัดระบบชลประทานให้เข้าไปถึงที่นาแห่งนี้ และสร้างผล ตอบแทนทางการเกษตรที่เรียกว่านาข้าวเลี้ยงคนในพื้นที่ได้ นอกจากนั้นพื้นที่ที่เป็นประมงพื้นบ้าน หรือประมงชายฝั่งในลุ่มน้ำต่างๆ จะมีการส่งเสริมด้านการเพาะเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นปลากระพง ปลากุเลา หรือปลาสายพันธุ์ต่างๆที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงได้พัฒนาสายพันธุ์ในหลายชนิด ซึ่งเราสามารถเพาะเลี้ยงเป็นพาณิชย์ได้ สิ่งเหล่านี้จะนำมาสู่การสร้างเศรษฐกิจมูลค่าเพิ่มให้กับพี่น้องชาวประมง รวมถึงปูม้า ปูทะเลและปูดำ เป็นต้น พร้อมกับให้มีการอนุรักษ์ประมงชายฝั่ง นอกจากนั้นเรายังมีพื้นที่สวนโดยส่งเสริมให้พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ไม้ผล จนเป็นที่ยอมรับของทั้งประเทศ อาทิ ทุเรียน ลองกอง มังคุดหรือจำปาดะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะบอกว่าเราจะนำพื้นที่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปสู่ พื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร เลี้ยงคนในประเทศไทย ตลอดจนสามารถเลี้ยงคนได้ทั่วโลกต่อไปในอนาคต ที่ต้องส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำคือการอบรมให้ความรู้ สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อประกอบอาชีพ ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลและพัฒนาในด้านต่างๆ ที่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลผลิตเพื่อการยังชีพ และแปรรูปเพื่อสนับสนุนการบริโภคทั้งในพื้นที่และในประเทศได้อย่างเพียงพอรวมทั้งจะสามารถเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมุสลิมที่จะเชื่อมั่นต่ออาหารที่ผลิตจากแหล่งผลิตที่ผู้ประกอบการเป็นมุสลิม หรืออาหารที่ฮาลาล ซึ่งปัจจุบันผลผลิต ทั้งเพื่อการบริโภคและการส่งออกจากพื้นที่จังหวัดชายแดนมีมูลค่านับแสนล้านบาท และยังสามารถสร้างการเติบโตทั้งด้านการผลิต และการส่งออกได้อีกเป็นจำนวนมาก“ได้หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งทั้งสองท่านต่างเห็นตรงกัน พร้อมให้การสนับสนุนและเสริมทั้งด้านการผลิตและการตลาด ภายใต้ยุทธศาสตร์ เกษตรผลิต-พาณิชย์ตลาด ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ดียิ่งขึ้น และพร้อมผลักดันในทุกช่องทางเพื่อให้นโยบายนี้ประสบความสำเร็จเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ก้าวข้ามความขัดแย้งเปลี่ยนพื้นที่ความไม่สงบเป็นพื้นที่ความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทย” รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย กล่าว