รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วย รมช.เกษตรฯ เปิดประชุมวิชาการ “กัญชาทางการแพทย์” เขตสุขภาพที่ 3 ชู จุดเด่นต่อยอดพืชกัญชาเป็น “โปรดักส์” แชมป์เปี้ยน สร้างอัตลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ของจังหวัด เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชุมชน
วันที่ 6 ส.ค. 2565 ที่ สนามกีฬากลางจังหวัดอุทัยธานี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 3 พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “กัญชา กัญชง ความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจของชาติ” และ มอบต้นกัญชาให้กับตัวแทนประชาชน ที่ลงทะเบียนขอรับต้นกัญชาผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” โดยมี น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสาธารณสุข นายชาดา ไทยเศรษฐ์ , นายเจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี นายมานพ ศรีผึ้ง ส.ส.นครสวรรค์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้บริหารกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน อสม.และประชาชน เข้าร่วมงานนายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานกัญชาทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปี มุ่งให้เกิดการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ช่วยให้ผู้ป่วยกว่าแสนรายสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชาที่มีคุณภาพและปลอดภัย พร้อมกับผลักดันให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้ทั้งผู้ปลูก ผู้แปรรูป ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจสุขภาพ เช่น ยา อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง สปา เป็นต้น โดยตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่มีการปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด ประชาชนสามารถปลูกและนำมาใช้ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น รวมถึงต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัวได้ ยกเว้นสารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC มากกว่า 0.2% ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเร่งสื่อสารทำความเข้าใจในการนำพืชกัญชามาใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 3 ครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และภาคีเครือข่าย มาร่วมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตั้งแต่การปลูก การนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์เพื่อการรักษา การประกอบอาหาร การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตลอดจนการต่อยอดในเชิงธุรกิจให้แก่ประชาชน ผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้ใช้กัญชาได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และต่อยอดทางธุรกิจอย่างคุ้มค่านายอนุทินกล่าวต่อว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนำไปใช้ในการรักษา และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ ดังที่เขตสุขภาพที่ 3 ได้พัฒนาต่อยอดพืชกัญชาจนเป็นผลิตภัณฑ์โปรดักส์แชมป์เปี้ยน ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยชูอัตลักษณ์ของ 5 จังหวัด ได้แก่ โลชั่นกัญชา แคนนาบิส บอดี้โลชั่น จังหวัดนครสวรรค์, เพชรศิลา ซีบีดี บูสเตอร์ เซรั่ม จังหวัดกำแพงเพชร, ผงปรุงรสผสมกัญชา จังหวัดชัยนาท, น้ำปลาร้าปรุงรสพาสเจอร์ไรส์จกนัว (สูตรผสมสมุนไพรกัญชา) จังหวัดพิจิตร และน้ำพริกปลาแรดกัญจัง จังหวัดอุทัยธานี ดังนั้น ขอให้ทุกคนได้นำไปใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขอยืนยันว่าเรามุ่งเน้นส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ ไม่สนับสนุนการเสพและสันทนาการนพ. เกียรติภูมิ กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร ชัยนาท และอุทัยธานี เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ มีการดำเนินการทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยในส่วนต้นน้ำ ได้ส่งเสริมการปลูกกัญชาในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการปลูก การดูแลรักษา การจัดการโรคและแมลง เพื่อให้ได้ต้นกัญชาที่มีคุณภาพ ส่วนกลางน้ำ มีโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการผลิตยากัญชาทางการแพทย์ 4 ตำรับ ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทำลายพระสุเมรุ และน้ำมันไพลใบกัญชา โดยโรงพยาบาลสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท และมีแผนการผลิตน้ำมันกัญชาสูตรอาจารย์เดชา โดยโรงพยาบาลหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ส่วนปลายน้ำ เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐครบทั้ง 54 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกรมวิชาการ 2 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชน 3 แห่ง มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาทางการแพทย์ครอบคลุมทุกสายวิชาชีพ ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และแพทย์แผนไทย รวมทั้งสิ้น 484 คน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการให้บริการกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 สิงหาคม มีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การประชุมวิชาการด้านการแพทย์ เสวนาวิชาการ การบรรยาย แนะนำการใช้กัญชาอย่างถูกต้อง จากวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชน ให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทย และการตรวจรักษาโรคต่าง ๆ โดยใช้ยาตำรับกัญชาที่เหมาะสมกับโรค อาทิ น้ำมันกัญชา (อาจารย์เดชา) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมบูทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ บูทให้คำปรึกษาการปลูกและการแปรรูปมม จากกัญชา สาธิตเมนูอาหารกัญชา สาธิตการปลูกกัญชาอย่างไรให้รอด รวมไปถึง การให้ความรู้จากกรมวิขาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันทางการเงินที่ปรึกษาในการปลูกกัญชา คลินิกเกษตร เป็นต้น ประชาชนที่มาร่วมงานครั้งนี้มีจำนวนผู้เข้า 12,000 คน