เพื่อไทย เตรียมยื่น ป.ป.ช. เชือด “ส.ส.-ส.ว.” หนุนสูตรหาร500 ชี้ จงใจขัดรธน.

“สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลฯ พรรคเพื่อไทย เตรียมยื่น ป.ป.ช. เชือด “สส.-สว.” หนุนโหวตสูตรหาร 500 ชี้จงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พรป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กล่าวถึง การพิจารณาร่างพ.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.วาระสองต่อเนื่อง ในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ที่คาดว่าจะพิจารณาต่อได้ในวันที่ 3 ส.ค.ว่า ใน 2 มาตราที่กมธ.ได้ปรับปรุงและเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ใช้จำนวน500คน หาค่าเฉลี่ยสส.พึงมี แทนจำนวณ 100คนนั้น ส่วนของสส.พรคเพื่อไทย จะงดออกเสียง เนื่องจากว่าการแก้ไขดังกล่าวพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่แรก อย่างไรก็ดีพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะร่วมประชุมเพื่อให้การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา และสามารถลงมติในวาระสามได้ ซึ่งเชื่อมั่นว่าการพิจารณาของรัฐสภาจะไม่เกินกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทยเตรียมให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างคำร้อง ที่จะส่งไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้พิจารณากรณีที่สมาชิกรัฐสภาจงใจฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ในมาตรา23 ว่าด้วยสูตรคำนวณสส.เพราะก่อนหน้านั้นมีกระบวนการที่ทำให้การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีพฤติกรรมที่ฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงานและทำให้ระบบการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาฯ ไม่เป็นไปตามระบบ

“หลังจากที่ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.โหวตวาระ3แล้ว พรรคเพื่อไทย จะจัดประชุมส.ส. และจะขอให้ส.ส.ร่วมลงลายมือชื่อเพื่อส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช. ให้พิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะไม่ช้า ส่วนกรณีที่จะวางใจให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบหรือไต่สวนเรื่องนี้ได้หรือไม่ ผมเชื่อว่าเสียงของป.ป.ช.คงไม่เหนือไปกว่าเสียงของประชาชน” นายสมคิด กล่าว เมื่อถามถึงกระบวนการที่เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งสส.นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนของพรรคเพื่อไทยจะแยกดำเนินการและไม่รวมกับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐที่แสดงเจตนาจะยื่น แต่ขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังรอความชัดเจนว่า หลังจากที่รัฐสภาลงมติวาระสามแล้ว จะส่งเรื่องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพียงองค์กรเดียว หรือ ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วย