“สนธิรัตน์” หวั่น “โควิด-ฝีดาษลิง” ทำท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นสะดุด ชี้ สถานการณ์เปลี่ยน ใช้แค่ “คนละครึ่ง” กระตุ้นจับจ่ายไม่พอ แนะจับตาสถานการณ์โลกที่จะกระทบส่งออกไทย ห่วงราคาพลังงานขาขึ้น ดันเงินเฟ้อพุ่งอีก
วันที่ 31 ก.ค.2565 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์ด้านต่างๆ 2 ด้าน ประกอบด้วย 1. การท่องเที่ยวกับความหวังการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ต้องถือว่า เครื่องยนต์การท่องเที่ยวเริ่มทำงานแล้ว และหวังว่า จะสามารถผลักจีดีพีปีนี้ของเราให้ขยายตัวขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ยังคงเป็นห่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคฝีดาษลิงที่เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง 2. คนละครึ่ง กับการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยชี้ว่า นวัตกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการจับจ่ายใช้สอย ควรต้องทบทวนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยการอุดหนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางให้ตรงจุด รักษาคนตัวเล็กทั้งหลายให้อยู่ได้บนเงินงบประมาณที่จำกัด ซึ่งน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ ต้องรักษาฐานรากให้อยู่ได้ ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์โลก ที่จะบ่งชี้ถึงเครื่องยนต์การส่งออกของไทยด้วย
และ 3. ราคาพลังงานกับเงินเฟ้อต้องจับตาต่อ โดยคาดว่า ราคาพลังงานจะยังคงสูงขึ้น จากการเพิ่มปริมาณนำเข้าก๊าซ LNG และการปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย ในงวด ก.ย.-ธ.ค. 65 ทั้งนี้ ราคาพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักเร่งอัตราเงินเฟ้อ การตั้งรับเพื่อแก้ตามสถานการณ์อย่างเดียวไม่เพียงพอ และจะกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นเครื่องยนต์ ที่หวังใช้เป็นตัวช่วยเครื่องยนต์หลักอย่างการท่องเที่ยว และการส่งออก ทั้งนี้ ต้องจับตาการแถลงดัชนีเศรษฐกิจของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ในวันที่ 5 ส.ค.นี้
โดย นายสนธิรัตน์ ได้โพสต์ข้อความทั้งหมด ดังนี้
“สวัสดีวันหยุดยาวสุดสัปดาห์ทุกท่านครับ
วันหยุดยาวสัปดาห์ 4 วันนี้ที่ผ่านมานี้ถือเป็นอีกสัปดาห์หนึ่งตามมติ ครม. ในการเพิ่มวันหยุดเป็นกรณีพิเศษ (29 ก.ค. 65) หรือที่เราเรียกกันว่า “วันหยุดยาวต่อเนื่อง” เพื่อหวังกระตุ้นการเดินทางอันและการจับจ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชนในช่วงวันหยุดยาวนี้
เดินทางไปไหนกันบ้าง เอารูปมาแชร์กันได้นะครับ
ก็มี 3 เรื่องเอามาฝากครับ อาทิตย์นี้
1. การท่องเที่ยวกับความหวังการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจ
ภาคการท่องเที่ยวบ้านเรานี่ถือเป็นหนึ่งใน 4 เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและคาดว่าจะมีหวังในปีนี้ หลังมีการยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นการผ่อนคลายและเปิดโอกาสให้ธุรกิจการท่องเที่ยวกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
จากข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งแต่ ม.ค. ถึง มิ.ย. พบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศแล้วจำนวน 2.07 ล้านคน (ปีที่แล้ว 40,447 คน) โดยเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามามากสุดมาจากเอเชียตะวันออกราว 804,538 คน และหนึ่งในนั้นเป็นประเทศอาเซียนไปแล้ว 612,852 คน
เครื่องยนต์การท่องเที่ยวเริ่มทำงานแล้วครับ ก็หวังว่าจะสามารถผลักจีดีพีปีนี้ของเราให้ขยายตัวขึ้นได้ จากการเพิ่มการจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวขึ้น
แต่สถานการณ์ในปลายปีนี้ก็ยังคงน่าเป็นห่วงไม่น้อย สำหรับทั้งสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ และโรคติดต่อเฝ้าระวังอย่าง “ฝีดาษลิง” (Monkeypox) ที่หากควบคุมไม่ดีอาจกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤตขึ้นอีกได้
2. คนละครึ่งกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ประเทศไทยมีการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกันหลังจากโควิด-19 (K shaped) บ้างก็ยังจุดไม่ติด บ้างก็ค่อยๆฟื้นขึ้นมา ล่าสุดมีการกระตุ้นจากภาครัฐหวังมีการบริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นผ่านเป๋าตัง เช่น โครงการคนละครึ่ง และการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
นวัตกรรมดังกล่าวในปัจจุบันน่าจะต้องทบทวนเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปมาก ในอนาคตที่เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะถดถอย การอุดหนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง (targeted subsidy) ให้ตรงจุด ตรงเป้าหมาย รักษาคนตัวเล็กทั้งหลายให้อยู่ได้บนเงินงบประมาณที่จำกัด น่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ ต้องรักษาฐานรากให้อยู่ได้
สถานการณ์โลกตอนนี้ ทั้งความกังวลใจในสหรัฐฯ และจีน 2 ยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งถือเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย โดยตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเราคือสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกตั้งแต่ ม.ค.- มิ.ย. ปีนี้คิดเป็น 7.9 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.58 รองลงมา คือ จีน
เศรษฐกิจในบ้านเขาจึงสะท้อนเศรษฐกิจบ้านเราอยู่ไม่น้อย การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ FED 0.75% และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตจะทำให้บ้านเราชะลอตามไปด้วย เครื่องยนต์ที่ว่าอย่างการส่งออกที่ตอนนี้กำลังอยู่ในขาขึ้น ในอนาคตอาจต้องเตรียมรับมือ!!
3. ราคาพลังงานกับเงินเฟ้อต้องจับตาต่อ
ส่วนราคาพลังงานสัปดาห์นี้ น้ำมันและแก๊สยังคงผันผวนตามสถานการณ์ การนำเข้า LNG ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ ล่าสุด กลุ่ม ปตท. โดย PTTGL เซ็นสัญญานำเข้า LNG จากบริษัทCheniere Energy จำนวน 1 ล้านตันต่อปี (สัญญา 20 ปี) แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาแก๊สจากภายนอกที่จะเพิ่มขึ้นลำดับ ต่อด้วยการขึ้นค่าไฟฟ้าที่จะตามมา
โดยในงวด ก.ย.- ธ.ค. 65 กกพ. มีมติปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 68.66 สต.ต่อหน่วย และจะส่งผลให้ค่าไฟเฉลี่ยรวมพุ่ง 4.72 บาทต่อหน่วย
ราคาพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักเร่งอัตราเงินเฟ้อในบ้านเราตลอดช่วงที่ผ่านมา การตั้งรับอย่างเดียวแล้วเดินตามปัญหาเพื่อแก้ตามสถานการณ์อย่างเดียววันนี้ไม่พอครับ การหวังพึ่งเครื่องยนต์อย่างการท่องเที่ยว และการส่งออก ตามที่ได้กล่าวมานั้น ยังมีอุปสรรคอีกเยอะรออยู่ข้างหน้า
วันนี้ต้องกลับมาที่การบริโภคภาคเอกชนที่ถือเป็นโจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหา หากค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเครื่องยนต์ส่วนนี้ก็จะทรุดลงเรื่อยๆ ต้องประคับประคองให้ดีครับ ที่สำคัญ วันที่ 5 ส.ค. นี้ สนค. จะแถลงดัชนีเศรษฐกิจอีกรอบ รอดูกันครับว่าเงินเฟ้อบ้านเราจะเป็นอย่างไรต่อไป”