“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อดีตประธานรัฐสภา วิเคราะห์การเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว หรือ “สองใบ” ต้อง “อิสระ-เสรี” พร้อมมี กฎกติกา ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน สะท้อนเจตนารมย์ของปชช.
วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา และปัจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat” ระบุว่า เลือกตั้งบัตรใบเดียว หรือ สองใบ การเลือกตั้งซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตย มีหลักการสำคัญว่า ต้อง:
1. FREE คือ อิสระ เสรี โดยวิจารณญาณที่บริสุทธิ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่มีการใช้อำนาจหรือกลเม็ดใดใด บังคับขู่เข็น โน้มน้าว ทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. FAIR คือ เป็นธรรม ไม่ทุจริต ไม่โกง ตรงไปตรงมา เลือกใครก็ได้คนนั้น
3. REPRESENTATIVE คือ มีความเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงและเชื่อถือได้
อีกทั้ง ต้องมีกฎ กติกาสำคัญเบื้องต้น ดังนี้:
1. One Man One Vote ในการเลือกตั้งตำแหน่งเดียวกัน ในครั้งหนึ่ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีสิทธิ์ออกเสียงได้เพียงครั้งเดียวเท่ากัน
การเลือกตั้ง สส. ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกัน แม้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สส เขต และ สส บัญชีรายชื่อ ไม่ว่า 350/150 หรือ 400/100 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนเดียวก็ต้องเลือกได้ครั้งเดียว นั่นหมายถึงว่า ต้องใช้บัตรใบเดียว เพราะมิฉะนั้น ก็จะผิดหลักการเบื้องต้น One Man One Vote และจะกลายเป็น One Man Two Votes ไป
2. REPRESENTATION คือทุกคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องได้รับการพิจารณา ไม่มีคะแนนใดถูกทิ้งน้ำสูญเปล่า
การนับคะแนนเฉพาะที่ชนะได้ที่หนึ่ง และทิ้งคะแนนของผู้ที่ได้เป็นอันดับสองและอันดับรองๆลงไป โดยไม่ได้สิทธิ์ Representation เลย แบบ Winner Takes All ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
และในหลายกรณี ผู้ที่ได้คะแนนเสียงที่ 2-3-4-5 รวมกันแล้วอาจมากกว่า ที่หนึ่งด้วยซ้ำไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์ในการ Representation ที่แท้จริง เพราะหลักประชาธิปไตย ยังต้องเคารพ Majority Rule Minority Right ไม่ให้มีคะแนนใดตกทิ้งน้ำสูญเปล่า เพราะเขาคือประชาชนเหมือนกัน ต้องได้รับสิทธิ์ในการ Representation
ดังนั้น หลักการที่ถูกต้องและเป็นธรรม คือ ใช้บัตรใบเดียว แต่การนับคะแนน ต้องหักคะแนนผู้ชนะการเลือกตั้งเขตออกไปก่อน แล้วนับรวมคะแนนของผู้ที่ได้ในอันดับรองลงไปทั้งประเทศของพรรคต่างๆ มาคิดเป็นสัดส่วนของ สส บัญชีรายชื่อ ของพรรคต่างๆ
3. SIMPLE และ ไม่ DOUBLE COUNT คือง่ายและไม่นับสองซ้อน
การเลือกตั้งไม่ใช่คณิตศาสตร์ หรือ มายากล ต้องสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เลือกคนไหนก็ได้คนนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์การคำนวน สส. พึงมี หรือควรมี เพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าประชาชน ดังนั้นสูตรการเอาคะแนนเลือกตั้งที่ชนะแล้ว มานับซ้ำอีกก็ดี หรือเอามาคูณด้วย 2 ก็ดีซึ่งเป็นการขัดกับหลักนับสองซ้อนหรือนับแล้วนับอีก Double Count ทั้งสิ้น แล้วหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่งไม่ใช่จำนวน สส. บัญชีรายชื่อที่แท้จริง ย่อมเป็นการสร้างกฎเกณฑ์กติกาให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์การเลือกตั้งของประชาชน
โดยสรุป หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ความยุ่งเหยิง ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้ง ไม่ว่า บัตรใบเดียว หรือสองใบ การกำหนดจำนวน สส พึงมี การคำนวนคะแนน หารด้วย 500 หรือ 100 จึงไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ตรงตามหลักการประชาธิปไตยและไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วงชิงเพื่อชัยชนะและอำนาจของนักการเมืองเท่านั้น