‘พิชาย’ เตือนสติ ส.ส.หากกลับไปใช้หาร 500 รัฐสภาไทยคงเละเป็น ‘สภาโจ๊ก’

‘ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต’ นักวิชาการชื่อดัง เตือนสมาชิกรัฐสภาเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง กลับไปกลับมา น่าอับอายและอัปยศ ชี้ หากกลับไปใช้หาร 500 รัฐสภาไทยคงกลายเป็น’สภาโจ๊ก’ ซัด นักรัฐประหารสนใจแต่การสืบทอดอำนาจ กัดกร่อนสถาบันประชาธิปไตยให้เสื่อมลง

วันที่ 29 ก.ค.2565 รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อดีตคณบดีพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) โพสตข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

ความอลหม่านจนทำให้ความน่าเชื่อถือของรัฐสภาตกต่ำลงในยามนี้มาจากการเปลี่ยนกลับไปกลับมาของระบบเลือกตั้ง ทำไม สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่จึงกล้าทำตรงข้ามกับหลักการที่ตนเองรับรองไปก่อนหน้านั้น อันเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อศักดิ์ศรีและความน่าเชื่อถือของความเป็นตัวแทนปวงชนยิ่งนัก

การกระทำเยี่ยงนั้น นอกจากนำความอับอายและอัปยศมาสู่ผู้กระทำแล้วยังบั่นทอนความน่าเชื่อถือของรัฐสภา และประชาธิปไตยโดยรวมด้วยคาดว่าสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ก็ตระหนักอยู่บ้างว่า การทำเช่นนั้น หาใช่การที่ควรทำ แต่อาจจำใจต้องทำใครหรืออำนาจใด ที่กดดันให้ สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ยอมจำนน ละทิ้งศักดิ์ศรี ละทิ้งหลักการ ในลักษณะที่ทำลายตนเองเช่นนี้

คนผู้นั้นคงมีอำนาจยิ่งใหญ่ ผู้คิดว่าระบบเลือกตั้งที่เรียกว่าหาร 500 จะก่อประโยชน์แก่ตนเองอย่างประมาณไม่ได้ นั่งดีดลูกคิดในรางแก้ว ฝันเพลิดแพร้วถึงการสืบต่ออำนาจไปอย่างไม่สิ้นสุดสั่งการตามอำเภอใจ ไม่ใยดีว่า ความกระหายอำนาจของตนเอง จะส่งผลกระทบต่อหลักการอันชอบธรรมของสังคมอย่างไร

แต่ดูเหมือนว่า การหาร 500 ภายใต้การมีบัตร 2 ใบ อาจจะยังไม่อาจสร้างความมั่นใจแก่การสืบทอดอำนาจในอนาคตได้ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐบางคน จึงพยายามเสนอให้กลับไปใช้ ระบบหาร 500 ภายใต้การใช้บัตร 1 ใบ ดังการเลือกตั้งปี 2562

หากความพยายามนี้บรรลุผลรัฐสภาไทยก็คงกลายเป็นสภาโจ๊ก อย่างเต็มรูปแบบจึงขอส่งข้อความเตือนสติแก่บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรทุกคนว่าท่านเป็นตัวแทนของปวงชน ไม่ใช่เป็นลูกน้องของผู้มีอำนาจคนใด การรักษาหลักการชอบธรรมและการสร้างความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎรเป็นพันธกิจร่วมที่สำคัญยิ่งของ ส.ส.ทุกคน

เพราะหากสภาผู้แทนราษฎรกระทำบนพื้นฐานของหลักการอันชอบธรรมแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือต่อรัฐสภา ทั้งยังส่งผลดีและสร้างความเข้มแข็งแก่ระบอบประชาธิปไตยด้วยบรรดา ส.ส. ทั้งหลาย พึงตระหนักเถิดว่า นักรัฐประหารนั้นสนใจแต่การสืบทอดอำนาจและสั่งการให้กระทำเพื่อสนองความต้องการรักษาอำนาจของตนเองเป็นหลัก

เขาย่อมไม่สนใจใยดีใด ๆ ต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใดการรับคำสั่งและสนองความต้องการอันไม่ชอบธรรมของนักรัฐประหารจึงเท่ากับเป็นการทำลายความเป็นตัวแทนของปวงชน และกัดกร่อนสถาบันประชาธิปไตยให้เสื่อมลง