“สาธิต” พลิกหนุนปาร์ตี้ลิสต์หาร 100 อ้างสูตร 500 เสี่ยงขัด รธน.ส่อถูกคว่ำวาระ 3

“สาธิต ปิตุเตชะ” รองหน.พรรค ปชป. รับลูกหนุนสูตรหาร 100 ชี้ ไร้ความเสี่ยงขัดรธน.ห่วงถูกคว่ำวาระ3 ออก พ.ร.ก.แทนโดยไร้ทุกฝ่ายช่วยร่างกติกา อาจจะเป็นความขัดแย้งเพิ่มอีก

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมและประธานยุทธศาสตร์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งสัญญาณอาจกลับไปใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อหาร 100 ว่า ตอนนี้กฎหมาย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายมาตรา วาระ 2 โดยหลังจากผ่านวาระ 3 ต้องส่งไปที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากสมมติว่า มีความเห็นสูตร 500 อาจขัดรัฐธรรมนูญ และ หาก กกต.คิดว่าเป็นปัญหา ก็จะกลับไปสู่การพิจารณาของสภาอีกครั้ง หากเป็นเช่นนั้น ก็จะไม่เสียเวลานำไปสู่การพิจารณาของสภาร่วม เพื่อมาแก้ไขในมาตรา 23 เกี่ยวกับสูตรการคำนวณ ส.ส. รวมทั้งมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง

ต่อข้อถามว่า ท่าทีของ ปชป.เห็นด้วยหรือไม่ที่จะกลับมาใช้สูตรหาร 100 นายสาธิต กล่าวว่า เห็นด้วยเพราะไม่มีความเสี่ยงและสอดคล้องกับ กมธ.เสียงข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมา กกต.ก็มาให้ความเห็นทุกขั้นตอน ว่าการใช้สูตร 500 จะมีความหมิ่นเหม่ผิด รธน. ดังนั้นหากทำกฎหมายที่รอบคอบปลอดภัยจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและสอดคล้องกับหลักการ

ส่วนเมื่อถามต่อว่า มีการมองสาเหตุที่กลับมาใช้สูตร 100 เพราะฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่ได้เปรียบจากสูตร 500 นายสาธิต ระบุว่า ตนไม่ได้ดูว่าใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ตนร่างกฎหมายและกติกาการเลือกตั้งเพื่อความเป็นธรรม ส่วนใครจะได้เปรียบ หรือเสียเปรียบอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน กติกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

เมื่อถามว่า การที่ทำให้วุ่นวายเพื่อไปสู่การคว่ำกฎหมายลูกในวาระ 3 เพื่อออก พ.ร.ก.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายบริหารมากกว่าหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.อาจจำเป็น แต่การออก พ.ร.ก.โดยไม่มีทุกฝ่ายมาร่วมร่างกติกาในขั้น กมธ.ร่วมมันก็จะเป็นความขัดแย้งในขั้นตอนต่อไป ดังนั้นการจะทำให้บ้านเมืองราบรื่นก็ควรเป็นไปตามหลักการและกลไก “ใครจะไปจะมา รัฐบาลจะอยู่หรือจะไป รัฐบาลใหม่จะมาแต่หลักการของประเทศต้องยังอยู่ เพื่อช่วยกันให้เกิดสิ่งนี้ให้ได้” นายสาธิต กล่าว

เมื่อถามว่า การกลับไปกลับมาจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาอีกหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตนยอมรับหากกลับไปกลับมาจริง ประชาชนก็จะไม่เชื่อมั่นในเสียงการประชุมร่วมรัฐสภา ต้องตำหนิคนที่พยายามเปลี่ยนและกลับไปกลับมาว่ามีเหตุผลอะไรที่คิดแบบนั้น ซึ่งตนก็ทราบว่าประชนชนรู้ว่าใครคิดยังไงและอยากให้เป็นอะไร มันปิดกันไม่มิด