นายกฯ เซ็นตั้ง คณะกก.เฉพาะกิจบริหารวิกฤตศก. ยก”พลังงาน”เป็นเรื่องเร่งด่วน

นายกรัฐมนตรี เซ็นตั้ง คณะกก.ฉก.บริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ  คาดเรียกประชุมเร็วๆนี้ แจง หน้าที่คล้าย ครม.ศก. ชวน ปชช.ร่วมประหยัดพลังงานแก้ปัญหาประเทศ

วันที่ 19 ก.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เห็นลงนาม แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อบริหารสถานการณ์และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ โดยบูรณาการการทำงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งภาคเอกชนและทุกภาคส่วน ให้สามารถแก้ไขและบรรเทาผลกระทบที่มีต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถกำกับติดตามและเร่งรัดการดำเนินการต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรการและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนแผนเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตการณ์ด้านพลังงานและอาหาร ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นไปพิจารณาเพิ่มเติมให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และเป็นไปตามข้อสังเกตที่ได้จากที่ประชุมโดยเร่งด่วน

สำหรับคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นรองประธาน รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ ปลัดกระทรวงด้านเศรษฐกิจเป็นกรรมการ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ ส่วนคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเป็นอนุกรรมการ มีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จะมีลักษณะเดียวกันกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ฝ่ายเศรษฐกิจ ที่มีการนำหน่วยงานทางเศรษฐกิจเข้ามาหารือและบูรณาการการทำงานร่วมกันในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์และผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ การให้ข้อเสนอแนะและความเห็นต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาในภาพใหญ่ของประเทศและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การกำหนดแนวทางการบูรณาการและขับเคลื่อนมาตรการและกลไกต่างๆ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งให้มีการกำกับติดตามและประเมินผลด้วย

นอกจากนี้จะจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้กำหนดรายละเอียดและวิธีปฏิบัติตามห้วงเวลาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งนี้จะมีการเชิญภาคเอกชนและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมในการดำเนินการด้วย การจัดตั้งกลไกของคณะกรรมการฯ และ คณะอนุกรรมการฯ นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขและบรรเทาผลกระทบของเศรษฐกิจโลก การค้าการลงทุน พลังงาน อาหาร เงินเฟ้อ เพื่อดูแล ความเป็นอยู่ของประชาชนให้สามารถแก้ไขปัญหาไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็วและทันเวลา

สำหรับเรื่องเร่งด่วนที่เป็นข้อกังวลที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องใช้ฐานข้อมูลเดิมที่สภาความมั่นคงแห่งชาติรวบรวมไว้ และพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประเมิน วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน คือ เรื่องราคาพลังงาน การประหยัดพลังงาน การควบคุมราคาสินค้า และมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้คณะอนุกรรมการได้เริ่มขับเคลื่อนแล้ว และคาดว่านายกรัฐมนตรีจะเรียกประชุมในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ทางหนึ่งที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ได้คือการประหยัดพลังงาน ที่จะมีส่วนช่วยได้ทั้งภาพรวมของประเทศ