คมนาคม เดินหน้าบูรณาการ 3 หน่วยงาน ทล.-ทช.-กทพ. พัฒนานวัตกรรม และโครงข่ายทางถนน ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน มุ่งแก้ไขปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือเพื่อการบูรณาการการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยมี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง นายสมชาย ลีลาประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง และมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ณ การทางพิเศษแห่งประเทศไทยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานดำเนินงานโดยยึดหลักการบูรณาการ การมีส่วนร่วม และสร้างการรับรู้ควบคู่การประชาสัมพันธ์ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดแนวทางในการพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง โครงการทางหลวงชนบท และโครงการทางพิเศษ โดยให้ความร่วมมือในการวางแผน การศึกษา และออกแบบโครงการ พร้อมทั้งส่งเสริม สนับสนุน เรียนรู้ และพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางหลวงชนบท และทางพิเศษร่วมกัน เช่น การบริหารจัดการแบบ Single Command เพื่อให้เกิดการสั่งการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศ โดยมีโครงข่ายที่จะบูรณาการการพัฒนาโครงการร่วมกัน ได้แก่1.โครงการทางพิเศษสายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว – กะทู้ จังหวัดภูเก็ต ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งเดิมกรมทางหลวง (ทล.) ได้เคยศึกษาออกแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว นั้นให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นรูปแบบทางพิเศษเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายกะทู้ – ป่าตอง
2.โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 305 (ปทุมธานี – รังสิต – องครักษ์) ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นโครงการทางพิเศษสายอุดรรัถยา – ปทุมธานี3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายทางยกระดับศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร ที่ ทล. ได้ศึกษาออกแบบไว้ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการเป็นทางพิเศษ โดยให้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4.โครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วงจังหวัดสมุทรสาคร – สมุทรปราการ (สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ และถนนเชื่อมต่อ) ระยะทางประมาณ 72 กิโลเมตร ที่กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ศึกษาและออกแบบไว้นั้น รวมทั้งได้เสนอรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการและเตรียมนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยบูรณาการร่วมกับโครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านใต้ และให้ ทช. เป็นผู้ดำเนินโครงการถนนโครงข่ายรองที่เชื่อมต่อช่วงถนน จาก ทล.3 บรรจบ ทล.34 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร5. โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการ
สำหรับการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนานวัตกรรมและโครงข่ายทางถนนร่วมกันระหว่าง ทล. ทช. และ กทพ. ในครั้งนี้ เป็นมิติใหม่ในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐในการวางแผนการดำเนินงานเพื่อลดความซ้ำซ้อน และเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการดำเนินงาน สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้ทางได้รับความสะดวก ปลอดภัย ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้มากยิ่งขึ้น นับเป็นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เยี่ยมชมศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ กทพ. (Expressway Traffic Management Center: ETM) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์บริหารจัดการแบบ Single Command เพื่อให้เกิดการสั่งการชัดเจนและมีประสิทธิภาพ มีการเชื่อมโยงข้อมูลการจราจรเพื่อวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาการจราจรในโครงข่ายคมนาคมทางถนนของประเทศ