นับเวลาถอยหลังจากนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 9 เดือน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น และประเด็นที่คนการเมืองกำลังถกเถียงกันมากที่สุด คือ สูตรการเลือกตั้ง ระหว่าง “หาร 100” กับ “หาร 500” ประเทศไทยจะใช้ระบบใด และ มันแตกต่างกันอย่างไร?
กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง สำหรับ สูตรการเลือกตั้ง ส.ส. ระบบเขต และบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิตส์” ที่อยู่ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าสุดท้ายแล้วจะเอาระบบใด ระหว่าง หารด้วย 100 หรือ หาร 500 เพื่อใช้เป็นฐานคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ล่าสุด ผลการลงมติ ในการประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 ก.ค.65 จาก เนื้อหาที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เสนอมา ให้ หารด้วย 100
ปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นด้วย ตามที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอมา 392 ต่อ 160 งดออกเสียง 23 ไม่ลงคะแนน 2
เรียกว่า พลิกความคาดหมาย ! โดยที่ประชุม เห็นด้วยให้ใช้สูตร “หาร 500” เป็นฐานคำนวน “ปาร์ตี้ลิตส์”เบื้องหลังที่มาของมติดังกล่าว ว่ากันว่า เพราะพรรคร่วมรัฐบาลต่างกังวล ต่อกระแสการเมืองในปัจจุบันที่ พรรคเพื่อไทย กำลังมาแรง จากกระแสความนิยมในตัวของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร ที่ผลโพลทุกสำนักต่างชูธง เป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
พูดกันตรงๆ กลัว เพื่อไทย จะชนะแลนด์สไลด์ จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวสำเร็จ เพราะถ้าหารด้วย 100 พรรคเพื่อไทย จะได้ ส.ส.”ปาร์ตี้ลิสต์” เป็นกอบเป็นกำ แต่ถ้าใช้สูตร หาร 500 ส.ส.จะลดลง หรืออาจจะไม่ได้เลย!
ดังนั้น ก่อนอื่นใดไปทำความเข้าใจกับสูตรการเลือกตั้งทั้งสองระบบก่อน ที่เป็น “กติการการเมือง” ซึ่งจะนำมาใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยข้อสรุปกฎหมาย กำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือก ส.ส..เขต 400 คน กับ ส.ส..บัญชีรายชื่อ 100 คน
เริ่มจาก สูตร “หาร 100” คือ เอาคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศมาหารด้วย 100 โดยยกเอาการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด เมื่อ 24 มี.ค.2562 เป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ ซึ่ง การเลือกตั้งครั้งนั้น มีประชาชนซึ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งมาผู้ลงคะแนนทั้งหมด 35,532,647 คนดังนั้น เอาตัวเลข 35,532,647 ตั้ง หารด้วย 100 จะได้เท่ากับ 355,326 ซึ่งก็คือ จำนวนคะแนนเสียง ที่ใช้เป็นเกณฑ์ กำหนนด ส.ส. “ปาร์ตี้ลิสต์”
ทำนองเดียวกับ สูตร “หาร 500” ก็เอา 500 ไปหาร 35,532,647 จะได้ 71,065 ซึ่งหากใช้สูตรนี้ พรรคขนาดเล็ก จะมีโอกาสได้ ส.ส.เข้าสภา มากกว่า สูตร “หาร 100” เพราะพรรคขนาดเล็ก ยากที่จะหาเสียงได้ถึง 355,326 คะแนน ดังจะเห็นได้จากการเดินเกมคัดค้านสูตรการเลือกตั้ง หาร 100 ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล หน.พรรพลังธรรมใหม่
ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ ก่อนที่จะมีการโหวตลงคะแนนเลือกสูตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ก่อนการประชุม 1 วัน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปิดห้องพักเบรก ระหว่างประชุม ครม. คุยกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ประกอบด้วย
พลังประชารัฐ (พปชร.) มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรรณ, สุชาติ ชมกลิ่น และ อิทธิพล คุณปลื้ม , ภูมิใจไทย (ภท.) มี อนุทิน ชาญวีรกูล , ศักดิ์สยาม ชิดชอบ , ประชาธิปัตย์ มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน , สาธิต ปิตุเตชะ , ชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี วราวุธ ศิลปอาชา
ผลการหารือ เสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับ สูตร “หาร 500” ยกเว้น “บิ๊กป้อม” คนเดียว ที่อยากได้ สูตร “หาร 100” โดยมั่นใจว่า กระแสความนิยมของ พปชร.ยังดี และ คาดหวังจะได้ สส.เป็นกอบเป็นกำ ในหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ยังมีตัวแปรสำคัญ หากท้ายที่สุด การใช้สูตร “หาร 500” ผ่านออกมาเป็นกฎหมายเมื่อใด ทางพรรคเพื่อไทย จะต้องชูธงคัดค้านแน่นอน และได้วางเกม จะยื่นให้ ศาลรัฐธรรมนูญ โดย “หมอชลน่าน” น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หน.พรรคเพื่อไทย ได้ประกาศกลางที่ประชุมรัฐสภา หลังรู้ว่า “สูตรหาร 100” พ่ายโหวต ว่าตนเองจะเป็นผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความถึงสูตรคำนวณบัญชีรายชื่อด้วยตนเอง
อย่างไรก็ตาม นับถอยหลังจากวันนี้ เหลือเวลาไม่ถึง 9 เดือน จะครบอายุสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 23 มิ.ย.2566 แสดงว่า การเลือกตั้งใกล้เข้ามาทุกที เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีราย จึงต้องว่ากันให้ชัดเจน โดยเฉพาะซีกรัฐบาล เพราะการพิจารณาวาระ 2 และ 3 กำลังรออยู่ตรงหน้า ที่สำคัญต้องจับตาดู กระแสพรรคเพื่อไทย ให้ไปดูผล “โพลอุ๊งอิ๊ง” ต้องรีบตัดสินใจ อย่าปล่อยให้คาราคาซังจนต้องไปซัดกันในสภา รอบก่อนในชั้นกมธ.ฯก็ฟัดกันมายกหนึ่งแล้ว รอบนี้จะมาประลองกำลังกันอีกครั้งดูท่าจะไม่งามเพราะเป็นพวกเดียวฝ่ายเดียวกัน แตกหักขึ้นมาในสภาจะเสียหายกันทั้งหมดพังกันทั้งลำปิดท้าย ไปดูความเห็นฝั่งนักวิชาการบ้าง มองอย่างไรกับประเด็นนี้ !
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสเฟสบุ๊ค หัวข้อ สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 กับ หาร 100 แตกต่างกันอย่างไรและทำไมเป็นเรื่องใหญ่ มีเนื้อหาว่า…ถ้าจะสรุปแบบสั้นที่สุด การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 คือ การหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (คือ 500 คน) ขณะที่หาร 100 คือการหารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เท่านั้น (คือ 100 คนจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2564) ซึ่งผลลัพธ์จะแตกต่างกันมาก
คำถามคือ ทำไมฝั่งรัฐบาล (ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาที่อาจจะได้ ส.ส.ลดลงจากสูตรนี้) จึงอยากจะเปลี่ยนสูตรจากหาร 100 มาเป็นหาร 500? คือ เดิมพรรคพลังประชารัฐคาดว่าตนเองจะได้เปรียบ แต่พอไม่มี ร.อ.ธรรมนัส และพรรคอยู่ในสถานการณ์แพแตก จึงรู้ว่าตนเองไม่ได้เปรียบอีกต่อไปแล้ว แต่พรรคที่จะได้เปรียบคือพรรคเพื่อไทย (ซึ่งชนะการเลือกตั้งในระบบนึ้มาแล้ว 4 ครั้ง โดยเป็นแลนด์สไลด์คือเกินครึ่งถึง 2 ครั้ง) ดังนั้นการเปลี่ยนใจมาหาร 500 จึงวิเคราะห์ได้ว่า เพื่อลดความได้เปรียบของพรรคเพื่อไทย หรือ ถ้าใช้คำแบบสื่อคือเพื่อสกัดแลนด์สไลด์นั่นเอง
ความจริงแล้ว การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ก็คือ หลักการของระบบเลือกตั้งแบบเยอรมัน ซึ่งมีเจตนารมณ์คือให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคมี ส.ส.ในสภาตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน ตามคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเป็นคะแนนที่เลือกพรรคนั่นเอง แต่ปัญหาของเราในขณะนี้ คือ ไม่ได้ตั้งใจจะหารด้วย 500 มาตั้งแต่แรก เพราะถ้าจะใช้ระบบแบบเยอรมัน จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควรต้องมีมากกว่า 100 คน อย่างน้อยก็ควรต้องมีสัก 150 คนเท่าในตอนเลือกตั้งครั้งที่แล้ว
แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ การใช้จำนวน 500 หาร แต่มีจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้จัดสรรเพียง 100 จะเกิดปัญหาว่า จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคจะรวมกัน #เกิน 100 ที่นั่งแน่นอน แล้วจะทำอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อแค่ 100 ที่นั่งเท่านั้น? เพราะขนาดในการเลือกตั้งปี 2554 ที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อมากกว่านี้คือมี 125 ที่นั่ง โดยมี ส.ส.เขต 375 ที่นั่ง ผมลองทำแบบจำลองโดยใช้สูตรหาร 500 ปรากฎว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดเท่ากับ 138 คน เกิน 125 ไปตั้ง 13 คน แล้วตอนนี้มีแค่ 100 คน จะไม่ยิ่งเกินเข้าไปใหญ่หรือ?
ดังนั้น ถ้าจะใช้สูตรหาร 500 กันจริงๆ ก็ต้องเขียนเพิ่มลงไปด้วยว่าการคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้รับ มียอดรวมเกิน 100 ให้ปรับลดลงตามสัดส่วนให้เหลือไม่เกิน 100 ที่นั่ง
ไม่งั้นยุ่งแน่นอนครับ แค่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลขกัน ก็ยุ่งจะแย่อยู่แล้ว !!