“ไทย-ญี่ปุ่น” จับมือขยายความร่วมมือด้านเกษตรฯ เน้น เทคโนฯการผลิต-แปรรูป

กระทรวงเกษตรไทย-ญี่ปุ่น ตกลงขยายความร่วมมือ มิติใหม่เขื่อม 4,200องค์กร บนแพลตฟอร์ม FKII เพิ่มโอกาสการค้าการลงทุน2ประเทศ “อลงกรณ์” เผยเน้น พัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูป สู่เกษตรมูลค่าสูงรวมทั้งอาหารแห่งอนาคต และระบบโลจิสติกส์ความเย็นสินค้าเกษตร

เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว นายโชติ พึงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นายสกนธ์ วนาเศรษฐี ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงโตเกียว และคณะพบหารือกับนายคูนิอากิ คาวามูระ( Mr. Kuniaki Kawamura )ประธานสภาความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ (The Council of Industry-Academia-Government Collaboration) ซึ่งมีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ การบูรณาการและนวัตกรรม (Filed for Knowledge, Integration & Innovation หรือ FKII) FKII อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) โดยมีนายโอคูมะ ราเคชิ(Mr. Okuma Rakeshi )เป็นผู้อำนวยการ FKII และทีมงานร่วมประชุมที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวนายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวว่าการเดินทางเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้เป็นนโยบายของ ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีต้องการให้ขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่นในมิติต่างๆภายหลังจากนายเก็นจิโร คาเนโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น พร้อมคณะเข้าพบหารือกับดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาในวาระครบรอบ135ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง2ประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณร้อยละ 11.35 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกเป็นการสนองตอบต่อนโยบายเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของญี่ปุ่นซึ่งผลิตอาหารได้37%ของความต้องการในประเทศดังนั้นความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงและภาคีภาคส่วนต่างๆจะช่วยเติมเต็มนโยบายของกันและกัน พร้อมกันนั้นนายอลงกรณ์ ได้แสดงความชื่นชม FKII ที่ สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายด้าน อาทิ เกษตรอัจฉริยะ อาหารสุขภาพ เกษตรกรรมยั่งยืน ฯลฯ โดยเฉพาะงานด้านเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable agriculture) ที่ FKII มีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาถึง 72 กลุ่ม สอดคล้องกับแนวนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นแหล่งอาหารของโลก โดยการวิจัยและพัฒนาการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ให้คุณค่าทางสารอาหาร ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และลดการสูญเสียอาหาร (Food loss)โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ให้ความสนใจกับการวิจัยและพัฒนาของ FKII และประสงค์จะสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในหลายประเด็น อาทิ อาหารจากพืช (Plant-based Food) อาหารจากแมลง (edible insect) ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสำหรับเป็นอาหารคนและอาหารสัตว์ ยาและเครื่องสำอาง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และศูนย์ความเป็นเลิศ (COE) ซึ่งมีการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวเพื่อพัฒนาการผลิตการแปรรูปสู่เกษตรมูลค่าสูงตามนโยบายของของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากได้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันจะสามารถพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้นายอลงกรณ์ พลบุตร ยังให้ความสนใจด้านระบบการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพสินค้า (Cold Chain logistics) เพื่อเพิ่มความสามารถในการขนส่งสินค้าเกษตรและอาหาร เพิ่มมูลค่าทางการค้าและลดความสูญเสียอาหารได้ด้วย ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดยมีสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว เป็นผู้ประสานความร่วมมือต่อไปนายคูนิอากิ คาวามูระ ประธานสภาความร่วมมือฯ และนายโอคูมะ ราเคชิผู้อำนวยการ FKII ตอบตกลงและมีความยินดีที่จะร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับฝ่ายไทย โดยจะได้ประสานงานผ่านสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว ต่อไป
ปัจจุบัน FKII มีสมาชิกกว่า 4,200 คน จากบริษัทผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีก สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น รวมถึงสถานทูตต่างๆกว่า 68 แห่งในญี่ปุ่น มีแพลตฟอร์มเพื่องานวิจัยและพัฒนารวม 171 กลุ่ม