“ศุภชัย” รับหนังสือกลุ่มคัดค้านกัญชา พร้อมขอให้ทุกคนในสังคมช่วยกัน ผ่านไปให้ได้

“ศุภชัย ใจสมุทร” ประธานกมธ.ร่างกฎหมายกัญชา รับหนังสือกลุ่มค้านกัญชาทางสันทนาการ ขอให้ทุกๆคนในสังคมช่วยกัน เพื่อผ่านช่วงเวลานี้ไปให้ได้ โดยไม่ไปทำลายประโยชน์ กัญชา

วันที่ 1 ก.ค. 65  เวลา 10.00 น. ที่ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายศุภชัย  ใจสมุทร ประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ….  รับยื่นหนังสือจาก นายณัฐพงศ์  สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง และคณะ เพื่อเสนอแนะต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. …. เนื่องจากการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข มีผลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดอีกต่อไป เพียงวันแรกของการปลดล็อก พบสินค้าหลายชนิดที่มีส่วนผสมจากกัญชาวางจำหน่ายทั่วประเทศ อย่างเปิดเผยและเสรี ทั้งเครื่องดื่ม ขนม รวมถึงต้นกัญชา จึงมีความห่วงใยจากหลากหลายกลุ่ม อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ สถาบันทางการแพทย์ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม รวมถึงศิลปินดารา นักร้อง ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคม โดยเฉพาะการปกป้องเด็ก เยาวชน และกลุ่มเปราะบาง แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ. ดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 65 แต่ยังต้องใช้เวลานานกว่าที่จะพิจารณาออกกฎหมายและมีผลบังคับใช้ทำให้ขณะนี้ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชา กัญชง และหากพิจารณาสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ จะพบว่ามีการให้สิทธิประชาชนสามารถปลูก กัญชา กัญชงเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ เท่ากับเป็นการเปิดประตูให้สามารถใช้ในทางนันทนาการได้ ในขณะนี้ที่ยังไม่มีมาตรการที่ดีพอเพื่อควบคุมไม่ให้ใช้กัญชา กัญชงในทางที่ผิด ไม่สามารถควบคุมปัญหาจากการเมากัญชาได้ เช่น เมากัญชาขับรถ การเสพหรือบริโภคเกินขนาด การคิดค้นสูตรผสมต่าง ๆ ที่อันตราย การกำหนดปริมาณส่วนผสมของอาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น  จึงขอเรียกร้องให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการที่รัดกุม คลอบคลุมทุกมิติของปัญหาและผลกระทบที่จะตามมาจากการอนุญาตให้มีการใช้กัญชา กัญชง เช่น ต้องควบคุมการปลูก การนำไปใช้หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ การจำหน่าย จำกัดการเข้าถึง ห้ามโฆษณา ดังนั้น เครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยง ขอเสนอแนะต่อคณะกมธ. ดังนี้

1. เครือข่ายไม่คัดค้านการใช้กัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ หรือ เศรษฐกิจ แต่ไม่สนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ เพราะแม้กัญชาจะถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติด แต่ฤทธิ์ของกัญชา กัญชง ยังส่งผลต่อระบบประสาททำให้มีอาการมึนเมา ประสาทหลอน และเสพติดได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบพัฒนาการของสมอง ทำให้โครงสร้างสมองผิดปกติ ความสามารถในการตัดสินใจ คิด วิเคราะห์ลดลง มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรควิตกกังวล ซึมเศร้า

2. ควรกำหนดให้สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานที่ราชการ เป็นสถานที่ห้ามเสพ ห้ามขายกัญชา และห้ามจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม ส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ทุกชนิด และให้หมายความ
รวมถึงกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่หน่วยงานดังกล่าวอนุญาตให้จัด เช่น กิจกรรมรับน้อง กิจกรรมเข้าค่าย กิจกรรมทัศนศึกษา ศึกษาดูงาน กิจกรรมกีฬาสัมพันธ์ การประชุมสัมมนา

3. การห้ามขายกัญชาให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องพิจารณาเพิ่มบทลงโทษให้สูงกว่าข้อเสนอเดิมสองเท่า และควรพิจารณามาตรการคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด เช่น กรณีผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นเด็กหรือผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรต้องรับโทษทางอาญา โดยเชื่อมโยงให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

4. ห้ามไม่ให้มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติโดยเด็ดขาด เพื่อจำกัดการเข้าถึงและควบคุมอายุของผู้ซื้อ และต้องควบคุมปริมาณความเข้มข้นของกัญชาที่ผสมในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาต้องระบุปริมาณส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน นอกจากนี้ ต้องมีการระบุข้อความคำเตือนเกี่ยวกับการใช้กัญชา

5. ควรห้ามการโฆษณากัญชา กัญชง และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีสวนผสมของกัญชา กัญชง รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการขายที่มีรูปแบบ วิธีการและเนื้อหาที่มุ่งเชิญชวนเด็กและเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม

6. ขอเรียกร้องให้คณะ กมธ. ขยายเวลาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ และเปิดรับฟังความคิดเห็น ประชาชนในวงกว้างอย่างจริง ทั่วถึง