ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปวงการ “สีกากี” ให้เป็นองค์กรที่บริสุทธิ์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ณ เวลานี้ ดูจะใกล้ความจริงขึ้นมาทุกขณะ นับตั้งแต่ ร่างเดิมของ “บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์” ยุค คสช. ผ่านการตัดเติมแต่งต่อ โดย “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธ์ จนมาถึงยุคปัจจุบัน หน้าตาเป็นอย่างไร ท่ามกลางแสวิพากษ์วิจารณ์ จะปฏิรูปวงการสีกากีได้จริงหรือไม่
ย้อนหลังไป หากนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตั้งแต่กลางปี 2560 เมื่อจัดทำเสร็จ รัฐบาลได้ส่งต่อไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รองรับการปฏิรูปครั้งใหม่ ในเดือน เมษายน 2561 ก่อนจะมีการแต่งตั้งกรรมการพิจารณาอีกครั้งในปี 2562
หลังจากนั้นต้องส่งร่างไปให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบแก้ไขเสียก่อน จึงนำไปสู่ประเด็นคำถามตามมาอย่างน้อย 2 ข้อ..
1.ใช้เวลาดำเนินการนานถึง 1 ปีเต็ม จนโดนเหน็บในทีว่า เก็บดองไว้นาน และ 2.เนื้อหาสาระในร่างที่ส่งกลับ กลายเป็นการแปลงร่าง แตกต่างจากต้นร่างชุดนายมีชัยแบบหนังคนละม้วนจากต้นร่างเดิม ชุดของ พล.อ.บุญสร้าง กำหนดให้นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เพียงกำหนดนโยบาย แต่ให้ ผบ.ตร. มีอำนาจเต็ม ตั้งแต่เลื่อน ลด ปลด ย้าย และมีการโอนถ่ายภารกิจ ให้อิสระในการบริหารและงบประมาณ
ถึงร่างนายมีชัย ได้เพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็น ก.ตร.(คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ปรับสัดส่วนให้หลากหลายมากขึ้น มีผู้บังคับบัญชาเฉพาะสำหรับสายงานการสอบสวน
แต่ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ศ…. ที่ผ่านการตรวจสอบแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ มีข้อครหาว่าถูก “แปลงร่าง” จากโครงสร้างเดิมอย่างชัดเจน ท่ามกลางเสียงร่ำลือในกลุ่ม “ฮาร์ดคอร์” การเมืองว่า ไม่น่าจะเป็นได้แต่เป็นไปแล้ว เพราะเมื่อจัดทำร่างเสร็จ ต้องส่งไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งก่อน
เมื่อมีสาระปรับลดบทบบาทและอำนาจที่ “บิ๊ก” ตำรวจเคยมีเคยได้ ลงเนื้อหาในร่างที่ส่งกลับคืน จึงมีการตัดทอนเรื่องโดนลดบทบาทและถูกทอนอำนาจออกไป จนเป็นการ “แปลงร่าง” ผิดไปจากต้นร่างที่ถูกส่งมาตอนแรก
เพราะมีทั้งเรื่องตัดสิทธิ์ตำรวจชั้นผู้น้อย ไม่ให้มีสิทธิ์โหวตเลือก ก.ตร. และเรื่องเปิดทางให้ฝ่ายการเมือง คือ นายกรัฐมนตรี กลับไปนั่งเป็นประธาน ก.ตร. หรือ ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งจะผู้เสนอรายชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ผ่านที่ประชุม ก.ตร.
ต่างจาก พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปี 2547 ที่ยังคงใช้อยู่ เพราะอำนาจการเสนอชื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ เป็นของ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ผ่านที่ประชุม ก.ตร. จากนั้นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำความกราบบังคมทูล โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
ด้วยข้ออ้างถ่วงดุลอำนาจ ผบ.ตร. ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับในอดีตของอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นแตกต่างออกไป และไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย กระทั่งนำไปสู่การแก้ไขและให้อำนาจ ผบ.ตร. ไม่ใช่ให้อำนาจฝ่ายการเมือง ในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนต่อไปอีกด้านหนึ่ง ที่น่าสนใจ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ได้เขียนบทความตั้งคำถามว่า “ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ ประชาชนได้อะไร” คำถามแรก ตั้งประเด็นถามว่า “ตำรวจต้องจะรับใช้ผู้มีอำนาจหรือรับใช้ประชาชน”
หากพิจารณาเนื้อหา ร่าง พ.ร.บ.ฯ จะมีโครงสร้างเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แต่ร่างปัจจุบันได้ถูกแก้ไขเนื้อหา โดยประกาศ คสช และคำสั่ง หน.คสช รวมกันจำนวน 7 ฉบับ ทำให้ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 ถูกทำลาย
ระบบไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับข้าราชการตำรวจและประชาชนได้ ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…. มีความด้อยกว่าพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หลายประการ อาทิ การยกเลิก “คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ”
ถือว่าเป็นการยุบคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจของ กทม. ต่างจังหวัด และสถานีตำรวจต่าง ๆ (กต.ตร.) ไป ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้าใจปัญหาและความต้องการชุมชน มีการแก้ปัญหาเป็นอย่างดี เป็นรูปแบบการมีส่วนร่วมของประชาชน
แต่ไปยุบรวมและเพิ่มอำนาจให้ “คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ” หรือ ก.ตร ตามมาตรา 14 จำนวน 16 คนที่มีคนภายนอกถึงจำนวน 10 คน (อดีตข้าราชการตำรวจ 5 คน) มีอำนาจมากที่สามารถแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายและครอบงำสำนักงานตำรวจได้
ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอฯ ใหม่ไม่มีเนื้อหาเพื่อประชาชนเลย ทั้งที่ตำรวจไทยได้สถาปณาขึ้นจากปรัชญา “ตำรวจคือประชาชน ประชาชนคือตำรวจ” เนื้อหาใหม่ทำให้เปลี่ยนปรัชญาเป็น “ตำรวจคือตำรวจ ประชาชนคือประชาชน” จึงไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูป
อีกประเด็นที่ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง ยกขึ้นมา คือ “สภาพภายในองค์กรตำรวจ” โครงสร้างตามร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอ มีความไม่เหมาะสม คือ ตำแหน่งชั้นยศตั้งแต่ รองผู้บังคับหมู่ถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำนวนมากถึง 13 ตำแหน่ง ที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง
ตำแหน่ง ผบ.หมู่ และตำแหน่งรอง ผบ.หมู่ หรือระดับพลตำรวจ ถึงนายดาบตำรวจ ที่มีจำนวนมากกว่า 2 แสนตำแหน่ง หรือมีตัวคนครองตำแหน่งประมาณ 1.4 แสนคน หรือมากกว่า 70% ของข้าราชการตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั้นเป็นตำแหน่งที่ทำงานหนัก ต้องใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์มากอยู่กับปัญหาและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ เลย!!นายวิษณุ เครืองาม เจ้าของฉายา “เนติบริกร” ได้ออกมาแสดงความเห็น ต่อร่าง พ.ร.บ.ตำรวจ ในหลายประเด็น โดยเฉพาะ การเฉือน “กองบัญชาการ” ออกไป โดยชี้ว่า กองบัญชาการทุกอย่างมีครบไม่ได้ยุบอะไร
เพียงแต่ไปเพิ่มความสำคัญในส่วนของสถานีตำรวจจากที่ พ.ร.บ.เดิม ไม่เคยมีการระบุถึงสถานีตำรวจ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่กำหนดให้มีบทบาทหน้าที่และงบประมาณ รวมถึงบุคลากรอย่างเพียงพอ เพราะใกล้ชิดประชาชน อีกทั้งยังมีโอกาสให้เจริญเติบโต
ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้แยกการสอบสวนออกจากตำรวจนั้น จากการศึกษาของกรรมการชุดต่างๆ เห็นว่า วิธีเช่นนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะต่อให้แยกไปสุดท้ายตำรวจ ก็ต้องตั้งหน่วยงานขึ้นมาสอบสวนอยู่ดี
ดังนั้น เราจึงใช้วิธีคล้ายๆ กับข้อเสนอดังกล่าว คือ ให้การสอบสวนอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) ให้เป็น 1 แท่งในจำนวน 5 แท่ง ประกอบด้วย แท่งป้องกันและปราบปราม แท่งอำนวยการ แท่งบริหาร และแท่งวิชาชีพเฉพาะ โดยไม่ห้ามข้ามกันไปมาระหว่างแท่ง แต่มีเงื่อนไข เช่น ไปแล้วต้องต่อแถวอาวุโส
การปฏิรูปครั้งนี้ ยังให้มีกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตำรวจ (กพค.) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ใครที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมให้ส่งเรื่องมาที่ กพค. ตรวจสอบ และถ้าพบว่าไม่เป็นธรรมจริง ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปยังศาลปกครองได้ รวมถึงอยากให้มีคณะกรรมการระดับชาติ คือ คณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียน เกี่ยวกับตำรวจ (กร.ตร.) ที่จะรับเรื่องจากประชาชนที่รู้สึกว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เป็นธรรม เช่น ล้มคดีขาดอายุความ สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง
นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงกรณี คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) กับ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มีหน้าที่ใกล้เคียงกันแล้วมีการเมืองเข้ามาแทรก จึงปรับปรุงให้เหลือเพียง กตร.แล้วเอาการเมืองออกให้หมดเหลือเพียงนายกฯ คนเดียว
ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เป็นกฎหมายเพื่อวางระบบ แต่การวางระบบจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคน หรือ ตำรวจ 2.1 แสนคน ตำรวจมีคนที่ดี คนที่เลว แต่การวางระบบที่กำหนดไว้ดีแล้ว มีคนสอบถามว่า หากทำกฎหมายแล้วส่วยจะหมดไป ตั๋วจะหมดไป หรือตำรวจจะดี ประชาชนนอนตาหลับหรือไม่ ตนมองว่า หากทำระบบให้ดีที่สุด ต่อไปคือการเคี่ยวเข็ญ คนให้เข้าสู่ระบบและอาศัยการติดตาม
“หลักการ คือ ปรับปรุงระบบตำรวจ ปรัปบรุงอย่างไม่ไม่ถูกมัด ข้อสังเกตที่สมาชิกรัฐสภาเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์ จุใจ สะใจ ได้ใจ โครงสร้าง ก.ตร. กระจายอำนาจ ผูกพันชุมนุม ขอกรุณาใส่ในระบบคือ ร่างกฎหมายตำรวจแห่งชาติ โดยจะแก้ไขไปใช้ฉบับของ พล.อ.บุญสร้าง ทั้งหมด หรือ ฉบับของนายมีชัยทั้งหมด หรือ นำข้อเสนอของตำรวจที่ยกออกไปกลับมาทั้งหมดก็ได้” นายวิษณุ กล่าว
นับเป็นเวลากว่า 4 ปีที่มีการผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ. ตำรวจเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนวงการตำรวจไทย ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนานว่าเป็นโครงข่ายอาชีพราชการที่พบการทุจริตและใกล้ชิดกับภาคการเมืองมากที่สุด
ทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วน แต่ได้คัดประเด็นที่เป็นเนื้อในสำคัญมานำเสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนแปรญัตติของคณะกรรมาธิการจำนวน49คน และ อีกไม่นานคงมีผลบังคับใช้ได้เสียที หลังจากผ่านร้อน ผ่านหนาวมายาวนาน
ต้องติดตามกันต่อไปชนิดกระพริบตาไม่ได้!