“บิ๊กตู่”ถกพลังงาน สั่งเร่งคลี่คลายสถานการณ์ ปลื้มฟิทช์เร็ตติ้งจัดไทย BBB+

นายกฯ ถกพลังงาน สั่งเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด ชี้มาตรฐานการเงินการคลังยังแข็งแกร่ง มีเสถียรภาพ ย้ำวิกฤตพลังงานเกิดขึ้นทั่วโลก รัฐบาลพยายามหามาตรการ หวังไม่ให้กระทบปชช.มากเกินไป ปลื้ม สถาบันฟิทซ์เรตติ้ง จัดอันดับไทย BBB+

22 มิ.ย.2565 – ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2565 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรากำลังมีปัญหาด้านพลังงานมากพอสมควร ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จำเป็นต้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุดโดยที่ประชุมได้พิจารณาหลายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการบริหารงานด้านพลังงานหลายเรื่อง คงไม่ใช่เรื่องเฉพาะราคาน้ำมันแพงหรือไม่แพงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องภาพรวมทั้งหมด ทั้งความก้าวหน้าในการดำเนินการและปัญหาเหตุติดขัดต่างๆที่ต้องปรับรูปแบบของการใช้พลังงานของเราให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์เพื่อใช้แหล่งพลังงานอื่นมาทดแทน เพราะค่าแก๊ส ค่าน้ำมันแพงขึ้น โดยรายละเอียดกระทรวงพลังงานจะชี้แจงอีกครั้ง

ทั้งนี้เรื่องพลังงานทุกคนทราบดีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดกับทุกประเทศทั้งโลกในปัจจุบัน หลายกลุ่ม หลายฝ่ายเกี่ยวข้อง ดังนั้นหลัก 3 ประการของเราคือ ปัจจัยพลังงานที่แพงขึ้นในวันนี้ เราต้องศึกษา ทำความเข้าใจว่าปัจจัยมาจากไหน จากภายนอกหรือภายใน เกิดขึ้นทั่วโลกหรือไม่ หรือประเทศไทยประเทศเดียว
“ผมยืนยันว่าทุกประเทศที่มีการนำเข้าต้นทุนพลังงานจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย ของเราทราบดีอยู่แล้วว่ามีพลังงานของเราเองเท่าไหร่ ทั้งทางบก ทางทะเลอะไรก็แล้วแต่ รัฐบาลก็พยายามหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติมเพื่อทดแทนแก้ปัญหาในอนาคตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีการพิจารณา เพราะเราจะต้องแก้ปัญหาให้ได้ “นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ประการที่ 1. เราจะต้องดูแลความมั่นคงเสถียรภาพพลังงาน ไม่ให้เกิดการขาดแคลนหรือขยายตัวการประกอบการ เพื่อให้การประกอบการธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ประการที่ 2. เราจะต้องดูแลราคาพลังงานไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจนมากเกินไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ก๊าสหุงต้มซึ่งมีผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชนในวงกว้าง ซึ่งวันนี้ราคาน้ำมันของไทยถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านยังต่ำอยู่ในลำดับที่ 7 หรือ 8 จาก 10 ประเทศอาเซียน ประการที่ 3. เราจะดูแลช่วยเหลือครอบครัวหรือกลุ่มเปาะบางผ่านมาตรการใดบ้าง เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือเป็นรายกิจกรรม รายผู้ประกอบการ และเราจะต้องรักษาสมดุล การใช้เงินต่างๆ เหล่านี้เพื่อช่วยเหลือประคับประคองพลังงานและการเจริญเติบโตเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงินการคลัง เพื่อเติบโตให้ได้ในอนาคต ถ้าเราเป็นภาระมากเกินไป วันหน้าทุกอย่างจะย้อนกลับที่เราอีก ดังนั้นเราต้องเดินอย่างระมัดระวังที่สุด และสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อยืนยันว่าสิ่งที่รัฐบาลทำในวันนี้แม้จะถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง

แต่วันนี้เราก็ต้องรับฟังผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันฟิทซ์เรตติ้ง(Fitch) ซึ่งให้ความเชื่อมั่นในเสถียรภาพด้านการเงินการคลังของไทยอยู่ในเกณฑ์ระดับสูงBBB+ เช่นเดียวกับการเกิดก่อนโควิดและเกิดปัญหาพลังงานในขณะนี้ แสดงว่าเราดำเนินการมาได้ดีพอสมควร เรายืนยันตรงนี้และพยายามจะทำให้ดีที่สุดในทุกๆเรื่อง