ปตท.ลั่น! พร้อมคืนกำไร “ค่ากลั่น”ช่วยรัฐตรึงน้ำมัน ชี้ เป็นนโยบายต้องดูแลสังคม

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกาศพร้อมคืนกำไร จากค่ากลั่นช่วยรัฐตรึงน้ำมัน เผยเป็นหนึ่งในนโยบาย การดูแลสังคมสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก เรื่องของ ESG ยอมรับมีนักลงทุนต่างชาติที่ถือหุ้น ปตท.มีความกังวล แต่สามารถชี้แจงได้

วันที่ 21 มิ.ย.2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่21 มิ.ย. 2565 เห็นชอบ มาตรการด้านพลังงาน โดยขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาตินำส่งกำไรส่วนหนึ่งจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซลและเบนซินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงวิกฤตน้ำมันแพง โดยเงินในส่วนของน้ำมันดีเซล นำไปบริหารราคาขายปลีกให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เงินในส่วนของน้ำมันเบนซิน นำไปลดราคาขายปลีก 1 บาท/ลิตร

ด้านกระทรวงพลังงาน รายงานว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับกลุ่มโรงกลั่นถึงแนวทางในการดำเนินการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป รวมทั้งขอความร่วมมือ ปตท. นำส่งกำไรส่วนหนึ่งของโรงแยกก๊าซธรรมชาติเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งคาดว่าจัดเก็บได้ 500-1,000 ล้านบาท/เดือน ขณะที่ มาตรการประหยัดพลังงานภาคประชาชน อาทิ มาตรการ “ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน” ปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ ตั้งอุณหภูมิ เรื่องปรับอากาศ 26 องศาเซลเซียส ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ การเปิด-ปิด เครื่องปรับอากาศเป็นเวลา ขอความร่วมมือให้ปิดป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. เป็นต้น

รายงานข่าว จาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)หรือ พีทีที เปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลขอความร่วมมือกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน ให้นำส่งกำไรค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล และ เบนซิน จากโรงแยกก๊าซ เพื่อเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงว่า กลุ่ม ปตท. พร้อมให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐ แต่ต้องมีความชัดเจน และอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาปตท. ให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มเปราะบาง

ทั้งนี้ ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีนักลงทุน และ ผู้ถือหุ้นเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน และได้รับการสอบถามจากนักลงทุน โดยเฉพาะต่างประเทศเข้ามาถึงนโยบายดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ เพราะบทบาทหนึ่ง คือ การดูแลด้านสังคมสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก โดยการทำธุรกิจต้องมีนโยบายเรื่องของ ESG (Environment-Social-Governance)

“เป็นเรื่องที่ต้องดูแล โดยเฉพาะกลุ่มผู้เปราะบางแต่ประเด็นสำคัญสุด คือ การรณรงค์ให้เกิดการประหยัดพลังงาน เพราะราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นนอกจากเรื่องสงคราม ก็คือ เรื่องของความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นมา ขณะที่กำลังผลิตไม่เพียงพอ ประกอบด้วยดังนั้น การประหยัด การลดความต้องการใช้ให้ลดลงมาก็จะเป็นเรื่องที่จะทำได้ นอกจากนี้ ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ เพราะธุรกิจโรงกลั่นมีทั้งช่วงที่ค่าการกลั่นตกต่ำ ก็เจอกับภาวะขาดทุน และในยามที่เกิดภาวะไม่ปกติเช่นปัจจุบันก็เชื่อว่าทุกคนพร้อมที่จะช่วยเหลือ” แหล่งข่าว กล่าว