สำนักข่าวอิศรา เผยความคืบหน้าคดีประมูลรถซ่อมทาง อบจ.สงขลา ป.ป.ช.ลงมติกล่าวโทษ ‘พลวิศว์ เทค-คู่เทียบ’ ยกกลุ่ม คนในข้องใจท่าทีลงมติแบบนี้เท่ากับยอมรับมีการฮั้วประมูลจริง ทำไมยังเดินหน้าฟ้องร้อง ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่เบิกจ่ายเงินให้เอกชนด้วย
แหล่งข่าวจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้ทำหนังสือแจ้ง นายก อบจ.สงขลา ให้รับทราบความคืบหน้าทางคดีอาญา กรณี อบจ.สงขลา ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินดคีอาญากับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ ครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3
ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา ได้รับสำนวนการสอบสวนคดีอาญาที่ 76/2564 (การประมูลครั้งที่ 1) และคดีอาญาที่ 77/2564 (การประมูลครั้งที่ 2) คืนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการ ป ป.ช.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท พลวิศว์ เทค จำกัด โดย นายอิทธิพล ดวงเดือน , บริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด โดยนายสุรพงษ์ ตรียานนท์ , บริษัท ครีเอทอินโนเวชั่น จำกัด โดยนางชวลี เทียนงามสัจ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพลิโอนี โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน และ บริษัท อะมีลัม จำกัด โดยนางสาวหรือนางญาณี ลิ้มสถิรานันท์หรืออารยะทรงศักดิ์ ผู้ต้องหาทั้งในฐานะส่วนตัวและนิติบุคคล ที่ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 วรรคแรก ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 14(2) ซึ่งขณะนี้สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลาอยู่ระหว่างการดำเนินการเร่งรัดสรุปสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งให้พนักงานอัยการพิจารณาตามกฎหมายต่อไป
ส่วนคดีอาญาที่ 392/2564 (การประมูลครั้งที่ 3) ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับไว้ดำเนินการสอบสวนตามอำนาจและหน้าที่แล้ว
แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า การมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีอาญากับเอกชนกลุ่มนี้ เป็นผลมาจากในช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการประชุมพิจารณารายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ ของ อบจ.สงขลา เห็นว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นเพิ่มเติมไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนการเสนอโครงการการกำหนดราคากลาง การกำหนดร่างขอบเขตของงาน การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ได้กระทำการใด โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ และไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มเอกชนในการกระทำความผิดเกี่ยวกับการปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม หรือกระทำความผิดฐานร่วมกันในการเสนอราคาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม
ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้พนักงานไต่สวน ป.ป. ช. ประจำจังหวัดนราธิวาส ไปดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท พลวิศว์ เทค จำกัด โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน , บริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด โดยนายสุรพงษ์ ตรียานนท์ , บริษัท ครีเอทอินโนเวชั่น จำกัด โดยนางชวลี เทียนงามสัจ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เพลิโอนี โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน และ บริษัท อะมีลัม จำกัด โดยนางสาวหรือนางญาณี ลิ้มสถิรานันท์หรืออารยะทรงศักดิ์ ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 วรรคแรก ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 14 (2) ต่อไป โดยไม่ต้องรอให้มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งนี้ด้วย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การที่ ป.ป.ช.ส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มเอกชนที่ร่วมฮั้วประมูล เท่ากับเป็นการยอมรับว่ามีการฮั้วประมูลจริง แต่กลับยังจะเดินหน้าฟ้องร้อง นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ในฐานะนายก อบจ.สงขลา ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางอเนกประสงค์ให้แก่บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ทั้งที่ นายนิพนธ์ พยายามต่อสู้มาตลอดว่า การประกวดราคางานมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น จึงสั่งระงับการเบิกจ่ายเงินค่ารถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ 2 คัน ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการประกวดราคาจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ ของอบจ.สงขลา นั้น มีจำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง การประกวดราคาครั้งที่ 3 เป็นครั้งที่ บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด เป็นผู้ชนะ และศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้อบจ.สงขลา จ่ายเงินรวมดอกเบี้ยกว่า 80 ล้านบาท ให้แก่ บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด ไปแล้ว โดยในประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัท พลวิศว์ เทคพลัส จำกัด กับคู่เทียบ ศาลฯ ระบุว่า ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าบริษัท พลวิศว์ ร่วมกันกับ บริษัท เอส พี เค ออโต้เทค จํากัด ยื่นซองเสนอราคาอันเป็นการขัดขวางการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม และมีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วย การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแต่อย่างใด
ส่วนการประกวดราคาอีก 2 ครั้ง คือ อบจ.สงขลา ได้เข้าร้องทุกข์ต่อสถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา เพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อ บริษัท พลวิศว์ เทค พลัส จำกัด โดยนายอิทธิพล ดวงเดือน และกลุ่มบริษัทคู่เทียบ กรณีเป็นกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม และร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (ฮั้ว)เป็นเหตุให้ อบจ.สงขลาได้รับความเสียหาย ซึ่งทั้ง 2 คดี กำลังจะขาดอายุความ โดยคดีแรกจะขาดอายุความในวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 ส่วนคดีที่ 2 ขาดอายุความในวันที่ 18 กันยาน 2565 นี้
ขณะที่เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้อนุมัติหมายจับกลุ่มบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมการประมูลการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทาง ครั้งที่ 1 และ 2 ของ อบจ.สงขลา ดังกล่าวแล้ว ในความผิดฐาน ปลอมและใช้เอกสารปลอม และ ตกลงร่วมกันเสนอราคา (ฮั้วประมูล) เป็นเหตุให้ อบจ.สงขลา ได้รับความเสียหาย
โดยกลุ่มบริษัทที่ถูกศาลอนุมัติหมายจับครั้งนี้ คือ นางสาวหรือนางญาณี ลิ้มสถิรานันท์ หรือ อารยะทรงศักดิ์ ,บริษัท อะมีลัม จำกัด โดย นางสาวหรือนางญาณี ลิ้มสถิรานันท์ หรือ อารยะทรงศักดิ์, นายสุรพงษ์ ตรียานนท์ , บริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด โดยนายสุรพงษ์ ตรียานนท์, นางชวลี เทียนงามสัจ , บริษัท ครีเอทอินโนเวชั่น จำกัด โดย นางชวลี เทียนงามสัจ
ขณะที่ บริษัท อะมีลัม จำกัด และ บริษัท เอ็กซ์ ทู ที อินดัสตรี จำกัด เป็นบริษัทที่เข้าซื้อซองประมูลการจัดซื้อรถซ่อมบำรุงทางเอนกประสงค์ 2 คัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,850,000 บาทของ อบจ.สงขลา ด้วย