“มาดามเดียร์” จี้ รัฐ ทบทวน การจัดงบฯ ผลักดัน “ซอฟต์ พาวเวอร์” พลิกฟื้นศก.ไทย หลังพบตัวเลขไม่เหมาะสม ยกเคส “มิลลิ-ข้าวหนียวมะม่วง” เป็นตัวอย่าง ระบุต้องยกระดับอุตสาหกรรมบันเทิงให้เข้มแข็ง
วันที่ 2 มิ.ย.2565 เวลา 09.40 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ วาระที่ 1 นางสาววทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายว่า หลังวิกฤตโควิดทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไป หนึ่งนโยบายที่จะได้ยินภาครัฐและเอกชนพูดอยู่บ่อยครั้ง คือ ยุทธศาสตร์ซอฟต์ พาวเวอร์ (Soft Power) เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งจากการศึกษารายละเอียดงบประมาณของภาครัฐปี 66 ขอตั้งข้อสังเกตว่าการทำงานเรื่อง ซอฟต์ เพาเวอร์ ของภาครัฐ มีลักษณะต่างกระทรวง ต่างทำเป็นการใช้งบแบบกระจัดกระจาย และพื้นฐานงบประมาณส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้แบบการ จัดกิจกรรม หรือ อีเว้นท์ ไม่ใช่โครงการต่อเนื่องระยะยาว ไม่มีแผนงานที่ชัดเจนว่าจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาทบทวนการใช้งบประมาณสร้างเศรษฐกิจด้วยซอฟต์เพาเวอร์ตามปณิธานของรัฐบาลให้สำเร็จด้วย ประเด็นแรก การทำความเข้าใจเรื่องซอฟต์ พาวเวอร์ ให้ถูกต้องตรงกัน เพราะหากเข้าใจคลาดเคลื่อน ผลกระทบจากการทำแผนนโยบายรวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์คลาดเคลื่อนตามไปด้วย โดยอาวุธสำคัญที่จะผลักดันซอฟต์ เพาเวอร์ของไทย คือการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อศิลปะและบันเทิง
น.ส.วทันยา กล่าวว่า ขอยกตัวอย่าง กระแสนักร้องหญิงมิลลิ ที่ทานข้าวเหนียวมะม่วง บนเวที Coachella ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนซอฟต์ เพาเวอร์ให้กับคนไทย โดยคนที่ได้อานิสงส์จากนักร้องหญิงมิลลิ คือ เกษตรกรที่ปลูกมะม่วง ชาวนาที่ปลูกข้าวเหนียว จากกระแสดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่รัฐต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมศิลปะ แล ะบันเทิงให้มีความเข้มแข็ง ประเด็นที่สอง การกำหนดหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจน เพื่อสามารถโฟกัสการทำงานและจัดทำแผนระยะยาวเพื่อไปสู่เป้าหมาย เราประกาศวิสัยทัศน์แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน โดยหน่วยงานที่ใกล้เคียงมากที่สุดคือกระทรวงวัฒนธรรม แต่เมื่อพิจารณาจากงบประมาณของกระทรวง แล้วเกิดคำถามว่าจะผลักดันให้เกิดซอฟต์ เพาเวอร์ได้อย่างไร
น.ส.วทันยา กล่าวว่า ประเด็นที่สาม การสนับสนุนเงินทุนที่จะพัฒนาสร้างเอกชนให้เกิดความเข้มแข็งเพื่อนำเงินทุนไปพัฒนาผลงานคุณภาพและบุคคลากรเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมเติบโตแข่งขันทันกับต่างชาติได้ แต่งบกระทรวงวัฒนธรรม จะเห็นว่ากว่า 90 % ถูกนำไปใช้เชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม ศิลปะเดิมของประเทศ แต่งบที่จะพัฒนาต่อยอดอนาคตกลับน้อยมาก มีเพียงโครงการเดียวที่เกี่ยวข้องซอฟต์ เพาเวอร์มากที่สุด คือ การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ด้วยงบจำนวน 40 ล้านบาท กับภารกิจอันใหญ่หลวงซอฟต์ เพาเวอร์ คงไม่ต้องพูดถึงความเหมาะสมว่างบเท่านี้จะทำให้ภารกิจสำเร็จได้หรือไม่
ทั้งนี้ เข้าใจว่ารัฐบาลมีภาระต้องเยียวยาประชาชนจากวิกฤตโควิด การใช้งบประมาณจึงต้องรอบคอบ แต่เรายังมีเงินกองทุนนอกงบประมาณอีกจำนวนมากและเพียงพอที่จะพัฒนาซอฟต์ เพาเวอร์ได้ รวมทั้งงบประมาณที่ขอเข้าไปยังกองทุนถูกนำไปใช้แบบกระจัดกระจาย ไม่สามารถเห็นผลลัพธ์การทำงานจากการสนับสนุนแบบเป็นรูปธรรมได้ ไม่ต่างกับการตำนำพริกละลายแม่น้ำ หากนำเงินกองทุนต่างๆหรือ งบอีเว้นท์ของกระทรวงมารวมกันจะมีงบประมาณมากพอปักหลักยุทธศาตร์เพื่อผลักดันซอฟต์ เพาเวอร์ ให้สำเร็จได้