พระเจ้าอยู่หัว พระราชินี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง 90 พรรษา
เมื่อเวลา 19.03 น. วันที่ 30 พ.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานงานกาล่าดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565”
โดยมีคุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ “สสธวท” พร้อมคณะกรรมการ ในฐานะผู้จัดงาน เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯในโอกาสนี้ ทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยบริเวณ Foyer ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับผ้าไทย
ส่วนที่ 2 จัดแสดงประวัติความเป็นมาของสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ หรือ “สสธวท” และองค์กรสมาชิก 22 จังหวัด รวมทั้งการดำเนินงานและผลงานที่โดดเด่นด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย การส่งเสริมผ้าไทย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านส่งเสริมผู้นำสตรีและเยาวชน และด้านต่างประเทศส่วนที่ 3 ภาพ 90 ต้นแบบผ้าไทยพร้อมข้อคิดและแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วมส่งเสริมและสนับสนุนผ้าไทย
ทั้งนี้ สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานกาล่าดินเนอร์ “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565” ภายใต้แนวคิด “ไทยนิยม”เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการพัฒนาส่งเสริมงานหัตถศิลป์ไทย ซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยให้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนําเสนออัตลักษณ์ผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมไทย มรดกอันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาไทย รวมทั้งเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ความภาคภูมิในอัตลักษณ์และการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยโอกาสนี้ พระราชทานเข็มที่ระลึกแก่ผู้สนับสนุนการจัดงาน และผู้เป็นต้นแบบสนับสนุนการใช้ผ้าไทย “๙๐ ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” เพื่อเชิดชูเกียรติ ยกย่อง และส่งเสริมบุคคลผู้สืบสานภารกิจด้านผ้าไทยให้คงอยู่เป็นอัตลักษณ์ของผ้าไทยที่งดงาม ทรงคุณค่า เป็นมรดกทางภูมิปัญญาของไทยสืบไป
โดยกำหนดแนวทางครอบคลุมกลุ่มต่างๆ 9 ประเภท ดังนี้ นฤมิตภูษาสง่าศิลป์…ต้นแบบแห่งการถักทอผ้าไทย, จินตภูษาสง่าศิลปี…ต้นแบบแห่งการออกแบบลวดลายผ้าไทย, เชิดชูภูษาสง่าศิลป์…ต้นแบบแห่งการเชิดชู สนับสนุนและต่อยอดผ้าไทย, วิวัฒน์ภูษาสง่าศิลป์…ต้นแบบแห่งการพัฒนาผ้าไทยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี
บูรณาภูษาสง่าศิลป์…ต้นแบบแห่งการดีไซน์ผ้าไทย (ดีไซเนอร์), เอกวลัญชน์ภูษาสง่าศิลป์…ต้นแบบผู้นำในการสืบสานและอนุรักษ์ผ้าไทย, สสธวท สานธำรงภูษาสง่าศิลป์….ต้นแบบสมาชิก สสธวท ผู้สืบสานการสวมใส่ผ้าไทย, สตรีรักษ์ภูษาสง่าศิลปี…ต้นแบบสตรีแห่งความภาคภูมิในผ้าไทย และบุรุษรักษ์ภูษาสง่าศิลป์….ต้นแบบบุรุษแห่งความภาคภูมิใจในผ้าไทยจากนั้น ทอดพระเนตรการถวายราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยคณะกรรมการ และการแสดงชุด “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” ประกอบด้วย วีดิทัศน์ ชุด “90 ต้นแบบ สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์” และ การแสดงแบบเสื้อชุดผ้าไทย “สยามพัสตรา ภูษาสง่าศิลป์ ผ้าไทยร่วมสมัย ไทยนิยม”
โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทย ให้มีความร่วมสมัย สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และคงไว้ซึ่งเสน่ห์ความเป็นไทยอย่างสง่างาม สร้างความนิยมและความภาคภูมิใจในการสวมใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน และสร้างกระแสนิยมการแต่งกายด้วยผ้าไทย
รวมทั้งเพื่อต่อยอดให้ผ้าไทยเป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทยและเผยแพร่สู่สากล ผ่านเครือข่ายองค์กรสมาชิกนานาประเทศ การแสดงแบบเสื้อในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เป็นต้นแบบผ้าไทยกิตติมศักดิ์จากแวดวงต่างๆ แสดงแบบเสื้อกว่า 70 คน และจากนี้ไปทุกองค์กรของ สสธวท ทั่วประเทศ จะดำเนินการต่อยอดกิจกรรมเทิดพระเกียรติในท้องถิ่นตนเองในการส่งเสริมผ้าไทยตลอดปีมหามงคลนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป