หาดใหญ่ จับมือ กฟภ. และภาคเอกชน ขานรับนโยบายรัฐจัดระเบียบสายไฟลงใต้ดิน

เทศบาลนครหาดใหญ่ จับมือ กฟภ. และภาคเอกชน ขานรับนโยบายรัฐจัดระเบียบสายไฟลงใต้ดิน จัดประชุมเตรียมความพร้อมโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 พื้นที่อำเภอหาดใหญ่ วงเงินกว่า 2 พันล้าน

ที่หอประชุมเทศบาลนครหาดใหญ่ จัดประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินโครงการ (คพญ.1) พื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมี ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายบุญบอ อึ้งบำรุงพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายงานก่อสร้างและบริหารโครงการ นายไพบูลย์ ว่องวีระยุทธ์ ผู้อำนวยการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคใต้ จังหวัดยะลา นายนุกูล ตูพานิช ผู้บริหารฝ่ายบริหารโครงการ 1 กฟภ. นายสัมฤทธิ์ โชติบัณ ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและบริการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคใต้ จังหวัดยะลา นายจริชัย สร้อยแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและการบำรุงรักษา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 ภาคใต้ จังหวัดยะลา นายจำเนียร บุญแก้ว ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภอหาดใหญ่ และหน่วยงานที่เกียวข้อง เข้าร่วมประชุมหารือในแนวทางและแผนการดำเนินงานโครงการอย่างพร้อมเพรียง

ดร.ไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ มีการพัฒนาและลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นอัตราที่สูงมาก เมือเทียบกับหลายจังหวัดในภาคใต้ ยกตัวอย่างเช่น โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์จากอำเภอหาดใหญ่ไปด่านสะเดา ซึ่งกรมทางหลวงได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาความเหมาะสม งบประมาณที่ใช้ลงทุนและข้อมูลต่างๆ เพื่อให้อำเภอหาดใหญ่เป็นเมืองชั้นนำ

สำหรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ 1 หรือ คพญ.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็เป็นอีกโครงการที่จะทำให้อำเภอหาดใหญ่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ทั้งการลดจำนวนครั้งที่มีปัญหาไฟฟ้าดับ และลดระยะเวลาที่ไฟฟ้าดับในแต่ละครั้ง ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาไฟฟ้าดับได้ด้วย และยังนำสายไฟฟ้าลงดิน เพื่อให้เกิดความสวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะบริเวณย่านการค้า และเพื่อให้โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ดำเนินการเป็นไปตามแผน จึงได้จัดการประชุมเตรียมความพร้อมการดำเนินโครงการขึ้น โดยการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานด้านความมั่นคง องค์กรปกครงส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานสายสื่อสารทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อวางแผนและบูรณาการงานของแต่ละหน่วยงานให้สามารถดำเนินการได้ในคราวเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของงานเพื่อรองรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่อไป

ด้าน นายบุญลือ อึ้งบำรุงพันธุ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สายงานก่อสร้างและบริหารโครงการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 ได้อนุมัติโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ 1 เพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้าแรงสูงและแรงต่ำเป็นระบบ Underground Cable โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการ 5 ปี (2560-2564) ในพื้นที่ดำเนินโครงการ 4 แห่งคือ เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา และเมืองพัทยา ซึ่งมีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 11,668 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการเพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย

โดยในส่วนของการดำเนินงานในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ดำเนินการภายใต้งบประมาณ จำนวน 2,124 ล้านบาท ในพื้นที่ดำเนินการ 4 เส้นทาง ดังนี้ 1.ถนนธรรมนูญวิถี : จากจุดตัดถนนราษฎร์ยินดี จนถึงถนนเสน่หานุสรณ์ 2.ถนนศุภสารรังสรรค์ : จากจุดตัดถนนราษฎร์ยินดี จนถึงตลาดกิมหยง 3.ถนนศรีภูวนารถ : จากสามแยกคลองเรียน ถึงจุดตัดนิพัทธ์อุทิศ 1 และ 4.ถนนราษฎร์ยินดีตลอดแนว ภายใต้ขอบเขตการดำเนินโครงการ 1. งานสถานีไฟฟ้า 1 แห่ง (สถานีไฟฟ้าหาดใหญ่ 5) 2.งานก่อสร้างสายส่ง 115 เควี เหนือดิน ใต้ดิน 3.งานก่อสร้างระบบจำหน่ายใต้ดิน 4.งานระบบจำหน่ายแรงสูงเหนือดินพร้อม Overhead Ground Wire และงานรองรับระบบสื่อสาร

นายบุญลือ อึ้งบำรุงพันธุ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตั้งเป้าว่าช่วงปลายปี 2560 จะสามารถลงนามได้หนึ่งสัญญาในการที่ดำเนินการก่อสร้าง นอกจากนี้ในเส้นทางที่มีอินฟราสตรัคเจอร์ซับซ้อน ทั้งในส่วนของประปา ท่อน้ำเสีย และสายเคเบิลต่างๆ จำเป็นต้องระดมความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยงานสายสื่อสาร ได้จัดเตรียมแผนงานไว้รองรับระหว่างที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคดำเนินการก่อสร้าง ทำให้เกิดความสอดคล้องของการดำเนินงานทั้งระบบ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเร่ิมโครงการในจุดแรกบริเวณถนนธรรมนูญวิถี (จากจุดตัดถนนราษฎร์ยินดี จนถึงถนนเสน่หานุสรณ์) โดยจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1 ปี