“พรรคเศรษฐกิจไทย” นัดประชุมเลือกกก.บห.ใหม่ต้นเดือน มิ.ย. เปิดทาง “ธรรมนัส” นั่งหัวหน้าพรรค ขณะ “บิ๊กตู่” ถกวงเล็กรมต.พปชร.ปม “บิ๊กน้อย” ขัดแย้งเลขาฯพรรค
24 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังกรรมการบริหารพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) จำนวน 15 คน จากทั้งหมด 22 คน ไ ด้แก่ 1.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค 2.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร รองเลขาธิการ 3.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น 4.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 5.นาย พรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 6.น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 7.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 8.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส. ตาก 10.นายปัญญา จีนาคำ 11.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ 12.นายนเรศ ธำรงค์ทิพย์คุณ 13.นายธนสาร ธรรมสอน 14.นายปัญญา พุกราชวงศ์ และ15.นายนพดล สงวนพันธุ์
ทั้ง 15 คนนี้ถือเป็นกก.บห.ในสาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เมื่อยื่นใบลาออกจากกก.บห. ทำให้กก.บห.ต้องสิ้นสภาพโดยอัตโนมัติตามข้อบังคับพรรค และต้องเลือกกก.บห.ใหม่นั้น
ด้านนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจไทย กล่าวถึงกระแสข่าวที่ร.อ.ธรรมนัส จะนั่งเป็นหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยเอง มีความเป็นไปได้หรือไม่ โดย ยอมรับว่าเป็นไปได้ มีโอกาสทั้งนั้น แต่จะเป็นใครก็ตาม ควรเป็นคนที่นำพรรคให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อแก้ปัญหาประชาชน
ส่วนกระแสข่าวที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีการหารือกับสมาชิกพรรคเตรียมดึงกลุ่มของร.อ.ธรรมนัสกลับมาสู่พรรคพปชร.อีกครั้งนั้น นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ก็ทราบในข่าว แต่เราคงไม่กลับ เพราะหลังจากที่ตั้งใจออกมาทำพรรคเศรษฐกิจไทย เราก็อยากจะขับเคลื่อนพรรคเศรษฐกิจไทยต่อไป พร้อม ยืนยันพรรคเราไม่แตกแน่นอน ยิ่งเกิดปัญหายิ่งจะทำให้เข้มแข็งมากขึ้น ทั้งนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่า เตรียมจะประชุมกรรมการบริหารพรรคชุดรักษาการเร็วๆนี้ เพื่อกำหนดวันประชุมใหญ่ปรับโครงสร้างพรรค ซึ่งคาดว่าจะเป็นเดือนมิถุนายนนี้ เพราะไม่อยากปล่อยให้ปัญหานี้ยืดยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการประชุมครม.วานนี้(24 พ.ค.) ได้มีการหารือวงเล็กที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานและผอ.พรรคพลังประชารัฐ เข้าร่วม โดยมีการพูดถึงความขัดแย้งระหว่าง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา กับ ร.อ.ธรรมนัส ที่มีความคิดสวนทางกันตลอด โดยเฉพาะจุดยืนเรื่องการสนับสนุนนายกฯ ที่พล.อ.วิชญ์เห็นว่าควรสนับสนุนไปก่อน แต่ร.อ.ธรรมนัสประกาศชัดเจนว่าไม่สนับสนุน และที่ผ่านมาบทบาทของ พล.อ.วิชญ์ไม่ค่อยได้รับความสำคัญทั้งที่เป็นหัวหน้าพรรค แต่กลายเป็น ร.อ.ธรรมนัสที่ดูเป็นผู้นำพรรคแทน