“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” สู่”ผู้ว่าฯกทม.คนที่17″ เป็นความหวังที่คนกรุงเทพคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขสารพันปัญหา เป็นผู้ว่าที่ ฝ่ากระแสขั้วการเมืองเข้ามาได้สำเร็จ
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้รับชัยชนะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ผลโพลทุกค่ายชี้ความนิยมนำคู่แข่งอย่างชัดเจน สามารถฝ่ากระแสการเมืองแบบเลือกข้างได้สำเร็จ ได้คะแนนเกือบ 1.4 ล้านคะแนน มากกว่า ผู้ว่ากทม.ทุกคนนับตั้งแต่มีการเลือกตั้ง ทำสถิติเหนือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนน 1.2 ล้าน และเป็นผู้ว่ากทม.ที่เคยทำงานให้กับขั้วการเมืองเพื่อไทย-ไทยรักไทยคนแรกด้วย
ชัชชาติ ยังเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ที่ กทม. มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ที่เป็นผู้สมัครอิสระไม่สังกัดพรรคการเมือง โดยคนก่อนหน้านั้นคือ พิจิตต รัตตกุล ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 3 มิ.ย. 2539-22 ก.ค. 2543 หลังจากนั้นการเลือกตั้งระหว่างปี 2543-2556 จะเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่สังกัดพรรคการเมืองทั้งสิ้น
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2509 เป็นบุตรชายของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับ จิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (สกุลเดิม: กุลละวณิชย์) มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา สองคนคือ ชัชชาติ มีพี่น้อง 2 คน คือ 1.รศ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2.รศ.ดร.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่ง รศ.ดร.นพ.ฉันชาย เป็นพี่น้องฝาแฝด ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ ชัชชาติ อย่างมาก จนหลายคนทักผิดกันมาแล้ว
เส้นทางชีวิตของ ชัชชาติ ต้องบอกว่ามาทางสาย “วิศวกร” ขนานแท้ ไล่ตั้งแต่ปริญญาตรี สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ 1) ปริญญาโท วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก วิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา
เริ่มชีวิตการทำงานในฐานะวิศวกรภาคเอกชน กระทั่งในปี 2538 เปลี่ยนบทบาทเข้าสู่แวดวงวิชาการ จากการเข้าเป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนเวลาต่อมาได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ซึ่งนับตั้งแต่ทศวรรษ 2540s (ปี 2540-2549) เป็นต้นมา ชัชชาติ เริ่มเข้าใกล้แวดวงการเมืองมากขึ้น เริ่มจากการเป็นที่ปรึกษานโยบายด้านคมนาคม ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร สมัยที่ 2 (ปี 2548-2549) พรรคไทยรักไทย และรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช (ปี 2551) พรรคพลังประชาชน
ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (ปี 2554-2557) พรรคเพื่อไทย เป็นครั้งแรกที่ ชัชชาติ เป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองเต็มตัว จากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และขยับขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลเดียวกัน กระทั่งสภาพของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยสิ้นสุดลงจากการรัฐประหารในปี 2557 ชัชชาติ หายไปจากแวดวงการเมือง โดยหันไปทำงานกับภาคเอกชนในฐานะซีอีโอของ “ควอลิตี้ เฮ้าส์ (Q House)” หนึ่งในบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย
ในปี 2562 ชื่อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กลับมาถูกพูดถึงในแวดวงการเมืองอีกครั้ง ในฐานะ 1 ใน 3 ตัวแทนของพรรคเพื่อไทย ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรค ช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งท้ายที่สุดพรรคพลังประชารัฐได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน กระทั่งในช่วงปลายปีเดียวกัน ชัชชาติ ก็ประกาศตัว หากวันใดมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตนจะลงสมัครด้วย
แต่เส้นทางการเมืองครั้งแตกต่างออกไป เพราะนับตั้งแต่เตรียมตัวลงพื้นที่เก็บข้อมูลปัญหาและความต้องการต่างๆ ของประชาชนชาว กทม. จนถึงวันเปิดรับสมัครอย่างเป็นทางการ ชัชชาติ ดำเนินการในฐานะ “ผู้สมัครอิสระ” ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดเดิมอย่างพรรคเพื่อไทยรวมถึงไมได้ย้ายไปอยู่กับพรรคอื่นๆ โดย ชัชชาติ ได้ชี้แจงอยู่หลายครั้งที่ถูกถาม ว่า “การไม่มีสังกัดพรรค ทำให้สามารถทำงานร่วมกับทุกฝ่ายได้” ทั้งในระดับ กทม. ที่มีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และระดับชาติซึ่ง กทม. ต้องประสานงานกับรัฐบาลกลาง จากหลากหลายพรรคการเมือง
ชัชชาติยังเป็นหนึ่งในนักการเมืองขวัญใจคนรุ่นใหม่ โดยจุดเริ่มต้นมาจากฉายา “รัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ซึ่งมีที่มาสมัยเป็น รมว.คมนาคม มีการเผยแพร่ภาพ ชัชชาติ สวมเสื้อแขนกุดสีดำ กางเกงขาสั้นสีดำ ถือถุงแกงไปทำบุญที่วัด แม้จะเป็นการแต่งกายที่เรียบง่ายดูไม่มีอะไร แต่ชาวเน็ตต่างสะดุดตากับรูปร่างของท่านรัฐมนตรีที่เต็มไปด้วยกล้ามเป็นมัดๆ จนมีการพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์ มีกระทั่งการ “คอสเพลย์” แต่งตัวเลียนแบบพร้อมโพสต์ท่าอิริยาบถเดียวกันอย่างสนุกสนาน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการนำ ชัชชาติ ไปเปรียบเทียบกับ “เค็นชิโร่” ตัวเอกใน “หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ” การ์ตูนญี่ปุ่นชื่อดังในยุค 1980s (ปี 2523-2532) ตีพิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 2526-2531 รวม 27 เล่มจบ และตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง รวมถึงสร้างเป็นอเนิเมชั่นและวีดีโอเกม ทำให้คนรุ่นใหม่แม้เกิดหรือโตไม่ทันก็ยังรู้จัก โดยมีการเปรียบเทียบว่า ในการ์ตูนนั้นเค็นชิโร่ใช้วิชาหมัดอุดรเทวะ พเนจรปราบอธรรมในโลกอนาคตที่อารยธรรมมนุษย์ล่มสลายจากสงครามโลกครั้งที่ 3 เพื่อหวังยุติยุคสมัยบ้านป่าเมืองเถื่อนที่ผู้แข็งแกร่งกดขี่ผู้อ่อนแอ
ส่วนในโลกแห่งความจริงนั้น ชัชชาติ ในฐานะ รมว.คมนาคม พยายามเดินสายโปรโมท “อภิมหาเมกะโปรเจ็คท์ 2.2 ล้านล้านบาท” ที่เป็นการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งหมด โดยเฉพาะที่ฮือฮามากคือ “รถไฟความเร็วสูง” บนความหวังว่า เมกะโปรเจ็คท์นี้หากทำสำเร็จจะทำให้ประเทศไทยไปอยู่ในจุดที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด หลังจากที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมดูเหมือนจะชะลอตัว จากกับดักรายได้ปานกลางที่ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง และความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนาน
สำหรับเส้นทางสู่เก้าอี้พ่อเมืองคนล่าสุดของ กทม. แม้ด้านหนึ่งดูเหมือนง่ายเพราะโพลสำนักไหนก็ชี้ว่าคะแนนนิยมยืนหนึ่งเหนือคู่แข่งทุกราย ถึงกระนั้น ตลอดเส้นทางการหาเสียง ชัชชาติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ตามกระแสการเมืองแบ่งขั้วเลือกข้าง ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งไม่เชื่อว่า ชัชชาติ ตัดขาดจากพรรคต้นสังกัดเดิมอย่างเด็ดขาด อีกฝ่ายหนึ่งก็มองว่า ชัชชาติ มีวิธีคิดแบบประนีประนอม ไม่กล้าพอจะชนกับแก่นของปัญหา
ในเว็บไซต์ www.chadchart.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ทางการของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แบ่งนโยบายที่จะดำเนินการหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด 214 นโยบาย เป็น 9 ด้าน ในชื่อ “9 ด้าน 9 ดี” ประกอบด้วย 1.ปลอดภัยดี (34 นโยบาย) 2.สร้างสรรค์ดี (20 นโยบาย) 3.สิ่งแวดล้อมดี (34 นโยบาย) 4.เศรษฐกิจดี (30 นโยบาย) 5.เดินทางดี (42 นโยบาย) 6.สุขภาพดี (34 นโยบาย) 7.โครงสร้างดี (34 นโยบาย) 8.เรียนดี (28 นโยบาย) และ 9.บริหารจัดการดี (31 นโยบาย)
สุดท้ายแล้ว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะสามารถนำพาชาว กทม. หลุดพ้นจากสารพันปัญหา ทั้งเศรษฐกิจปากท้อง มลพิษ การจราจรติดขัด และอื่นๆ อีกมากมาย สมกับที่ประชาชนคนเมืองหลวงคาดหวังให้เป็น “ผู้กอบกู้” ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารของเมือง ได้หรือไม่? มาก-น้อยเพียงใด?..ก็ต้องติดตามกันต่อไป!!!
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,367,285 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,652,124 คน ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73 หน่วยเลือกตั้งที่นับคะแนนแล้ว 6,766 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 99.25
แบ่งเป็น บัตรดี จำนวน 2,540,810 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80 บัตรเสีย จำนวน 39,665 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50 บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 71,644 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70 เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65 เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
ผลการนับคะแนนผู้ว่าฯกทม. ไม่เป็นทางการ 100% 5 อันดับแรกดังนี้
1.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด 1,386,769 คะแนน
2.นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 254,723 คะแนน
3.นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล ได้ 253,938 คะแนน
4.นายสกลธี ภัทธิยกุล ผู้สมัครอิสระ ได้ 230,534 คะแนน
5.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ 214,805 คะแนน