“สมคิด”แนะ 4 เสาหลักกระทรวงคลัง อย่ายอมการเมือง ปัดตอบ ปมแคนดิเดตนายกฯ

“สมคิด จาตุศรพิทักษ์ “แนะ 4 เสาหลักการเงินการคลังต้องแข็ง ทำงบประมาณ ต้องลำดับสำคัญ ก่อน-หลัง อย่าอ่อนข้อการเมือง ผวาธรรมาภิบาลอ่อนลง แนะการเมืองต้องยึดสายกลาง ปัดตอบ “สร้างอนาคตไทย”ทาบนั่งแคนดิเดตนายกฯ

วันที่ 15 พ.ค.2565 เวลา 14.30 น. ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กทม. นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปราฐกถาพิเศษ ปิดหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) รุ่น 12 ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ โดย นายสมคิด กล่าวตอนหนึ่งว่า การบรรยายครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีเต็ม นับตั้งแต่พ้นตำแหน่ง เพราะคิดว่าเมื่อออกจากหน้าที่แล้ว ไม่อยากจะพูดอะไรที่กระทบกระทั่งกับคนที่เขาทำงานอยู่โดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ มูลนิธิสัมมาชีพได้รับอิทธิพลมาจาก นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เมื่อสัปดาห์ก่อนได้พบกับ นพ.ประเวศ ท่านเป็นปราชญ์ที่รู้จริง ซึ่งในสังคมมีไม่มาก เป็นคนดีที่ไม่เคยเสื่อมเลยในวัย 91 ปี ไม่ใช่หาได้ง่ายๆ อย่างไรก็ตาม 2 ปีเต็มที่ห่างออกไป ซึ่งไม่ยาวนัก หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปทั้งภายนอกและภายใน และเป็นพัฒนาการที่นำไปสู่สิ่งที่น่าห่วงใย คิดว่าเราทุกคนต้องตระหนักเอาไว้ ร่วมกันคิดว่าจะช่วยกันอย่างไรในอนาคตข้างหน้า ตนอาจจะคิดแล้วไม่ถูกต้อง อาจจะมีผิดพลาด แต่ให้ถือว่าตนมีจิตใจบริสุทธิ์ที่หวังดี

นายสมคิด กล่าวว่า ข้อห่วงใยของตนคือ สิ่งที่โลกกำลังเผชิญอยู่มีความเสี่ยงที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มีความไม่แน่นอนที่มากขึ้น เมฆหมอกแห่งความไม่แน่นอน มันหนาขึ้นทุกๆวัน จนกระทั่งจะจินตนาการอนาคตยากมาก เพื่อความไม่ประมาท ทุกคนจึงต้องเตรียมตัว โดยเฉพาะผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง สำหรับภาวะโควิดนั้น เราเคยคาดกันว่า ถ้ามีวัคซีนที่ดี มีการบริหารจัดการที่ดี มีการฉีดวัคซีนในอัตราที่สูง วันหนึ่งข้างหน้าไม่นานนักมันควรจะยุติได้ แต่ปรากฏว่าถึงวันนี้จริงๆ แล้วยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติได้ ภาวะโควิดมันมีผลทำให้เศรษฐกิจกระทบหนักมาก กระบวนการผลิต จ้างงาน ชีวิตความเป็นอยู่ ล้วนแล้วถูกกระทบทั้งสิ้น ฐานะการเงินการคลังทุกประเทศตรึงไปหมด เพราะต้องเอามาดูแลความเป็นอยู่ประชาชน สิ่งเหล่านี้มองไปข้างหน้าไม่มีวี่แววว่าจะจบตรงไหน

นายสมคิด กล่าวว่า ประเทศเราเป็นประเทศขนาดเล็ก มีทรัพยากรจำกัด การบริหารงบประมาณแผ่นดินจึงสำคัญ จะใช้วิธการบริหารการคลังแบบปกติไม่ได้ และในการบริหารการคลังของประเทศ มีผู้แทนอยู่ 4 สถาบันหลัก ประกอบด้วย สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในภาวะปกติ 4 สถาบันนี้พยายามประนีประนอมกับภาคการเมือง แต่ในภาวะที่ไม่ปกติ มีภาวะที่หนักหน่วง 4 สถาบันต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ เป็น 4 เสาหลักของแผ่นดิน ถ้าท่านเสียงแข็งใครก็เขย่าท่านไมได้ เชื่อตน การจัดทำงบประมาณต้องดูอะไรสำคัญก่อนหลัง อะไรที่ไม่สำคัญเอาไว้ก่อน แม้งบผูกพันสามารถชะลอหรือแช่แข็งได้ เพราะปัจจุบันภาระเราจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากดอกเบี้ยสูง

“4 เสาหลักอุดมด้วยคนเก่ง ท่านต้องยืนแข็งและมีทิศทางร่วมที่ชัดเจนว่าจะเอาประเทศไปทางไหน ต้องกล้าคิดกล้าเสนอ จะรอให้การเมืองคิดอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเขาฝากหวังไว้ที่คุณ เวลาแปรญัตติ ถ้าคุณแข็งจริงมือที่มองไม่เห็นก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะพลังของท่านยิ่งใหญ่นัก ผมอยากจะบอกว่าต้องร่วมกัน ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ จัดลำดับให้ดี เพราะข้างหน้าไม่รู้จะจบที่ไหนอย่างไร แต่รู้แน่ๆ จากวันนี้ถึงวันนั้นคือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”

นายสมคิด กล่าวว่า เรามาถึงจุดที่ไม่น่าเชื่อจะเกิดขึ้น จริงเท็จเราไม่รู้ แต่ว่าความรู้สึกของประชาชน ที่มีต่อธรรมาภิบาลของประเทศมันค่อยๆ อ่อนลง ไปมีผลกระทบต่อความเชื่อ ทั้งความเชื่อมั่น ความเชื่อถือ และความเชื่อใจ สามตัวนี้ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อใจ ความเชื่อใจว่าจริงใจหรือเปล่า มีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ถ้าไม่มี แล้วมันเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน รัฐจะทำงานได้ยากมาก จะถูกตั้งคำถามตลอดเวลา ทำอะไรจะถูกตั้งคำถาม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ถ้ามากๆ ขึ้นถึงจุดหนึ่ง ทำอะไรก็ติดขัด ผิดไปหมด ต้องรีบแก้ไข ต้องรีบสร้างความเชื่อสามตัวนี้ให้กลับคืนมาให้ได้ ถ้าไม่สามารถทำได้มันจะนำไปสู่สิ่งที่ขาดพลังในการแก้ไขปัญหา การขับเคลื่อนจะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร จะทำได้ยาก เพราะมันขาดความเชื่อถือ ความเชื่อใจ ในที่สุดเกิดเป็นรัฐที่อ่อนแอ คนรับกรรมคือประชาชนที่จะลำบาก ทั้งหมดไม่ได้มีเจตนาที่จะว่าใครเลย แต่เป็นสิ่งที่เราเห็น และอนาคตต้องเผชิญกับมัน หมอกมันหนาจัด ความเสี่ยงภัยมันสูง พลังของประเทศต้องแข็งแรงพอที่จะฝ่าฟัน ภาวะอย่างนี้ต้องรีบเยียวยา ไม่ใช่ให้ใครคนใดคนหนึ่งมาแบกรับ เป็นไปไม่ได้ จะผลิตอัศวินขี่ม้าขาวมากี่คนทุกอย่างก็เหมือนเดิม ดีไม่ดีแย่กว่าเดิม

นายสมคิด กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดได้ ประการแรกคือ การเมือง ที่คือจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง ถ้าการเมืองดี ประเทศดี การเมืองอ่อนแอ ประเทศลำบาก ประชาชนลำบาก ตอนไปพบนพ.ประเวศ ท่านบอกการเมืองในอนาคตหากมีความขัดแย้งแตกแยกจะเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ น่าจะพักไว้ก่อน การเมืองที่มีแนวทางยืดหยุ่น เป็นทางสายกลาง ไม่เน้นความขัดแย้ง ไม่เน้นการเป็นปฏิปักษ์ ให้ทุกคนมีโอกาสพูดคุยแก้ไขสถานการณ์ ไม่มีขั้ว ไม่มีฝ่าย เป็นทางออกของประเทศได้ ท่านยังบอกอีกว่า แนวทางสายกลางไม่ใช่ไม่มีจุดยืน แต่เป็นจุดยืนของชาวพุทธ ที่ไม่ให้คนเราขัดแย้ง ท่านเชื่อว่าแนวทางสายกลางคือแนวทางที่ถูกต้อง คนจะให้การสนับสนุน เพราะขณะนี้คนไม่ต้องการความขัดแย้งแล้ว นอกจากนี้ สภาวะผู้นำการเมืองมีความสำคัญอย่างยิ่ง และผู้นำแต่ละสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ในยามไม่ปกติต้องมีความชัดเจนในภาพของปัญหาและแนวทางแก้ไข แต่ถ้ามีเจตจำนงต่อรอง จัดสรรผลประโยชน์อำนาจ เลือกตั้งกี่ครั้งก็ยังเป็นภูเขาที่เขยื้อนไม่ได้ ต้องเอาคนที่ดีที่เก่งมาช่วยกัน และที่สำคัญที่สุดภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปาฐกถาเสร็จสิ้น นักเรียนหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ของมูลนิธิสัมมาชีพ ได้มายื่นต่อแถวรอมอบดอกกุหลาบให้แก่นายสมคิด ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวพยายามสอบนายสมคิดถึงกรณีที่พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.)  จะเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่นายสมคิดโบกมือปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยระบุว่า วันนี้ไม่สัมภาษณ์เรื่องการเมือง