ภาคเอกชน ชงแก้วิกฤตศก. ขอรัฐช่วยด่วน! ตรึงดีเซล ลดภาษี เปิดประเทศเต็มรูปแบบ

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน เสนอ ภาครัฐ เข้ามาดูแลแก้วิกฤตเศรษฐกิจจริงจัง จากภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง ผลกระทบจากสงครามยูเครน โดยให้ตรึงราคาดีเซลออกไปอีก3เดือน ลดภาษี และเร่งเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เมื่อวันที่ 11 พ.ค.65 ที่ผ่านมาว่า ด้วยเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงรอบด้านโดยเฉพาะเงินเฟ้อและต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น แม้แนวโน้มการท่องเที่ยวจะดีขึ้นก็ตาม ที่ประชุม กกร.จึงปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2565 มาอยู่ที่กรอบ 2.5% ถึง 4.0% จากกรอบเดิม 2.5-4.5% โดยยังคงคาดการณ์ส่งออกขยายตัว 3-5% แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและพลังงานจึงปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อมาอยู่ที่ 3.5-5.5% จากเดิม 2-3%

หากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน นอกจากนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง อาทิ โรงแรม ค้าปลีกก็สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมาก อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า ที่สำคัญการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ดังนั้นจากสถานการณ์ ดังกล่าว กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะ SMEs และบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในช่วงไตรมาส 2-3 นี้ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้มากขึ้นในช่วงปลายปีโดย เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเป็น 2 ส่วนดังนี้ 1.มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควตานำเข้า เสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ

2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 5 ขยายจำนวนสิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้กับ ผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ย ปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า รวมทั้งขอให้เปิดประเทศโดยสมบูรณ์ ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ จัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงานในแต่ละจังหวัดนั้นๆ ซึ่งประเทศไทยอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรงที่สูงเกินขีดความสามารถของผู้ประกอบการจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนการผลิตพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าได้

กกร.จึงขอเสนอให้ใช้กลไกของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด (คณะกรรมการไตรภาคี) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน พิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามความเหมาะสมในพื้นที่แต่ละจังหวัด รวมทั้งนำกลไกการปรับขึ้นค่าแรงในลักษณะตามทักษะการทำงาน Pay by Skill และมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาด้วยส่วนการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯนั้นภาครัฐควรมีเวลาให้ทุกภาคทำความเข้าใจก่อน กกร.จึงเสนอให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและชะลอบทลงโทษออกไปอีก 3 ปี