บทเรียน”ลาซาด้า”!! “อรรถวิชช์” ชงรัฐดันร่างกม.กำกับดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ

162

“อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” เลขาธิการพรรคกล้า ชี้ บทเรียน Lazada เสนอรัฐบาลดันร่างกฎหมายกำกับ ดิจิตัลแพลตฟอร์ม ข้ามชาติ ใช้กฎหมายของ EU เป็นตัวอย่างได้

วันที่ 7 พฤษภาคม 2565 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า โพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก กรณีโฆษณาไม่เหมาะสมของ Application ขายของออนไลน์ว่า ถึงเวลากำกับบริษัทดิจิตัลแพลตฟอร์มข้ามชาติ รัฐบาลควรใช้แนวทางกฎหมาย DSA ของ EU ประเด็นโฆษณาใน Lazada ที่บูลลี่ล้อเลียนบุคคลในเรื่องสุขภาพ และ การทำร้ายจิตใจคนไทย พี่กรณ์ ได้แนะนำกฎหมายที่สหภาพยุโรป EU กำลังให้ความสำคัญ Digital Services Act (DSA) กฎหมายการให้บริการดิจิทัล ไว้น่าสนใจ

ผมขอขยายความต่อจากพี่กรณ์ สถานะปัจจุบันกฎหมาย DSA อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภายุโรป ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมาธิการยุโรป European Commission คาดว่าเมื่อผ่านสภายุโรปแล้ว ประเทศในกลุ่มสหยุโรปจะต้องรับไปตรากฎหมาย หรือปรับกฎหมายของตนให้มีความสอดคล้อง ตั้งแต่ ม.ค.2567 เป็นต้นไป ยุโรปเองเผชิญปัญหากับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ที่เข้ามาสู่ตลาด ทั้งจากอเมริกา และ จีน เขาจึงต้องปกป้องสภาพสังคมและเศรษฐกิจของเขาเอง คล้ายกันกับไทยที่การค้าขายออนไลน์ อยู่บนแพลตฟอร์มยักษ์ต่างชาติ

กฎหมาย DSA คือ กำหนดมาตรการให้แพลตฟอร์มออนไลน์ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ โดยการควบคุมเนื้อหา การโฆษณา โดยเฉพาะที่มีเนื้อหาเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิขั้นพื้นฐาน และกระบวนวิธีการคิดคำนวณของระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Algorithm Process) สร้างกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่รวดเร็ว ส่งเสริมการขยายตัวของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) ลดการผูกขาดของธุรกิจรายใหญ่ ประกอบด้วย

(1) ผู้ให้บริการดิจิทัล ต้องมีระบบการตรวจสอบเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ขายออนไลน์ (2) ผู้ให้บริการดิจิทัล ต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบและลบข้อมูลที่ไม่เหมาะสม/ข้อมูลที่มีการบิดเบือนความจริงออกทันที โดยผู้ให้บริการต้องให้เหตุผลในการลบข้อมูลนั้นออกแก่ผู้ใช้นั้นด้วย (3) ผู้ให้บริการ ต้องอธิบายกระบวนวิธีการคิดคำนวณของระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Algorithms) ของแพลตฟอร์ม เพื่อแจ้งผู้ใช้ถึงที่มาที่ไปของผลการค้นหาออนไลน์ (4) ต้องจัดตั้งกลไกจัดการข้อพิพาทนอกศาลยุติธรรม (Out-of-court dispute settlement body) เพื่อรับรายงานเนื้อหาที่เข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายหรือข้อร้องเรียน (5) ประเทศสมาชิก EU สามารถออกคำสั่งให้ลบเนื้อหาที่เข้าข่ายผิดกฎหมายออก ต่อแพลตฟอร์มใดก็ได้ที่มีการดำเนินธุรกิจในเขต EU ไม่ว่าจะปฏิบัติงานจากพื้นที่ใดของประเทศสมาชิกใดก็ตาม

(6) แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบระบบเพื่อประเมินความเสี่ยง Audited risk assessment ทุกปี (7) ประเทศสมาชิกต้องแต่งตั้งผู้ประสานงานด้านการบริการดิจิทัล (Digital Services Coordinator) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานอิสระในการตรวจสอบแพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต (8) จัดตั้งคณะกรรมการบริหารด้านบริการดิจิทัล European Board for Digital Services วินิจฉัยข้อพิพาท รายงาน ประเมินความเสี่ยงบนโลกออนไลน์

ร่างกฎระเบียบนี้ต้องการให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม (Level-Playing Field) โดยบริษัทขนาดเล็กจะได้รับโอกาสที่สูงกว่าในการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ และมีค่าใช้จ่ายดำเนินการตามกฎหมายที่น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่

ผมหวังว่ารัฐบาลจะรับแนวคิดนี้ มายกมาตรฐานแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และเหมาะสมกับโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจของไทยและนานาชาติ พรรคกล้า อยากเห็นการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในการแข่งขันอย่างเสมอภาค ถ้าวันนี้มี ส.ส.ในสภา คงได้เดินหน้าเสนอกฎหมายกันแล้ว