“เกษตรฯ.”เล็งตั้ง”ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต”ในกรุงเทพ50เขตภายใต้โครงการเกษตรกรรมยั่งยืนเน้นอาหารปลอดภัย เตรียมปั้น”ธุรกิจเพื่อสังคม”เป็นกลไกขับเคลื่อนหวังดัน กรุงเทพสู่มหานครสีเขียวแห่งอนาคต
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปิดเผย ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายดุลมลชัย วิวัฒน์บวรวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย นายพงษ์ศักดิ์ วัฒนสินธุ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวปราณิศา บุญค้ำ สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมธนารักษ์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม โดยมี นายยงทวี โพธิษา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ ทำหน้าที่เลขานุการฯ การประชุมนายอลงกรณ์ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้ประชากรและชุมชนเพิ่มขึ้นประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)เพราะมีพื้นที่เกษตรน้อยและมีพื้นที่สีเขียวไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากรกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน คณะกรรมการบริหารและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project) ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ “3’s”(Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) โดยมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok 2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ อีกทั้งยังสอดรับกับโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ที่ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดในลักษณะองค์รวม โดยมีตัวอย่างบางโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองพื้นที่วัด (Green Temple) ณ ธรรมสถานวัดพระราม 9 กาญจนภิเษก รวมถึงวัดพระยาสุเรนทร์ บนความร่วมมือระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียน (บ.ว.ร.) เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัดร่วมทำการเกษตรพัฒนาอาหารปลอดภัย สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเกิดการแบ่งปัน รวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนด้วยสำหรับการประชุมครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมปักกล้าดำนาข้าวพันธุ์ กข 87 พร้อมปลูกต้นกล้าป่าเบญจพรรณ 962 ต้น ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา ทวีวัฒนา โดยที่ประชุมยังได้กำหนดเตรียมการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา เขตทวีวัฒนาและพื้นที่การทำการเกษตรยั่งยืนในเมืองของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งประธานฯ ได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสาน รศ.ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) ในการลงพื้นที่ดังกล่าวนอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งตลาดเกษตรกร( Farmer Market )ในกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอจากการศึกษาตัวอย่างมีลักษณะและแนวทางที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย 1) จัดตั้งในเขตชุมชนเมือง ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายองค์กรเกษตรกร ภาคเอกชนและภาครัฐ 2) ตลาดเกษตรกรออนไลน์ โดยการจองล่วงหน้าและมารับผลิตผล ณ พื้นที่จัดงาน ผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์มจ่ายตลาด(Jaitalad) เพื่อช่วยในเรื่องการกระจายสินค้าที่ทั่วถึง ซึ่งหากนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสานกันจะทำให้การจัด Farmer Market มีการกระจายตัวของเกษตรกร และผลิตผลถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัด Farmer Market ในเขตกรุงเทพมหานคร และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน พื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่การเคหะรวมถึงวัด และสถานศึกษาโดยขอให้กระจายให้ครบทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมอบหมายให้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้นเข้ามาร่วมในการดูแลเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย(Food safety)ด้วย พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมเป็นการเฉพาะในเรื่องการออกแบบตลาดหลายขนาดตั้งแต่เล็ก กลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมยังมอบหมายอนุกรรมการศึกษารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise )เป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป.