จับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อ! “อนุทิน”ยัน พร้อมรับมือโควิดหลังสงกรานต์ หวังไม่พุ่งสูง

รมว.สาธารณสุข ยัน เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 หลังสงกรานต์ เวชภัณฑ์-ฟาวิพิราเวียร์ จับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อสองสัปดาห์ หวังไม่พุ่งสูงมาก

วันที่ 18 เม.ย.2565 เวลา 09.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด-19 ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ ว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมเวชภัณฑ์ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ส่วนมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมที่จะเสนอที่ประชุม ศบค.นั้น มีความจำเป็นที่จะต้องผ่อนคลาย เพื่อให้กิจกรรมด้านเศรษฐกิจเดินต่อไปได้ในทุกบริบท รวมถึงการประกอบอาชีพทำมาหากินและความสะดวกของประชาชน โดยไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้บกเลิการตรวจ RT-PCR ให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทย ยอมรับว่าเป็นข้อเสนอที่จะต้องทำในวันข้างหน้า แต่ก็เกรงว่าประชาชนจะตื่นตระหนก จึงอยากให้ผ่านช่วงเทศการสงกรานต์ไปก่อน โดยหากผ่านเทศการสงกรานต์ไปได้ ไม่มีอะไรเกินขีดความสามารถของระบบสาธารณสุข ก็จำเป็นที่จะต้องหามาตรการผ่อนคลาย ให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็วที่สุด

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าการที่สาธารณสุขวางแผนให้เป็นโรคประจำถิ่นในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ก็มีการประเมินทั้งตัวเลขและอัตราส่วนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจาก 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา ยังเป็นอัตราส่วนที่เป็นไปตามหลักสากล ยืนยันว่า ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ยังไม่ประกาศเป็นโรคประจำถิ่น แต่เป็นการเตรียมการไว้เท่านั้น แต่หากทำได้จริงก็จะดำเนินการทันที ซึ่งจะไปกะเกณฑ์ในเรื่องนี้มากไม่ได้ แต่ขอให้ทุกส่วนมีความพร้อมในทุกด้านไว้ คือสิ่งสำคัญที่สุด ส่วนรายละเอียดว่าจะประกาศพร้อมกันทั่วประเทศ หรือเป็นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ตอนนี้ยังไม่ทราบ แต่เห็นว่าแต่ละจังหวัดจะต้องมีข้อกำหนดในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามทำงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสงกรานต์ที่ผ่านมา บุคลากรด้านสาธารณสุข ไม่ได้หยุดพัก เพราะต้องคอยดูแลประชาชน ล่าสุดจากการรายงานของอธิบดีกรมควบคุมโรค เรื่องอุบัติเหตุก็ดีกว่าปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งไหนเกินขีดความสามารถของการให้บริการด้านสาธารณสุขไทย จึงขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า สถานการณ์การติดเชื้อล่าสุด ถือเป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากมีการสัญจรเดินทางและใกล้ชิดกันมากขึ้น ก็ย่อมเป็นจุดเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีน แม้เป็นเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ก็จะน่าจะรับมือได้ ในขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งส่วนตัวหวังให้เป็นเช่นนั้น แต่ต้องจับตาในห้วงสองสัปดาห์หลังจากนี้ ถึงจะวางใจได้