“พิพัฒน์” เสนอใช้ “พาสปอร์ตวัคซีน”แทน ตรวจ”ATK-RT-PCR”กระตุ้นท่องเที่ยวจชต.

รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ดันมาตรการพาสปอร์ตวัคซีนและการตรวจ ATK แทน การตรวจ RT-PCR และระบบ Thailand Pass เหตุค่าใช้จ่ายสูง เพื่อเปิดช่องทางรับนักท่องเที่ยวชายแดนเพิ่มขึ้น

วันที่ 9 เม.ย. 2565 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วย ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานคณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางมาประชุมการดำเนินการเปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดสงขลา พร้อมรับทราบปัญหาและอุปสรรคจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว รูปแบบ Test and Go ช่องทางบก โดยมีนายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วม ณ ด่านศุลกากรสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1-9 เม.ย.2565 ณ ด่านศุลกากรสะเดา พบว่า นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาในไทย หรือ นักท่องเที่ยวจากไทยไปยังมาเลเซีย มีจำนวนประมาณ 100 คนต่อวัน ซึ่งมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณวันละหลายพันคน สาเหตุจาก การตรวจ RT-PCR ที่มีค่าใช้จ่ายสูง และ การประกันโควิด-19 บวกกับการที่ต้องจองโรงแรมอีกหนึ่งคืน เพื่อรอผลการตรวจ RT-PCR รวมถึงประสบปัญหาการลงทะเบียน Thailand Pass บางรายไม่ทราบว่าต้องลงทะเบียนก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ได้เสนอให้ยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass รวมถึงการตรวจ RT-PCR การปรับเงินค่าประกันภัยโควิด-19 เปลี่ยนมาใช้วัคซีนทราเวลเลน หรือ พาสปอร์ตวัคซีน และการตรวจ ATK รวมทั้งการให้คนไทยพื้นที่ชายแดนและคนมาเลเซียสามารถเดินทางเข้าออกภายในวันเดียว หรือ “วันเดย์ทริป” เพื่อการค้าและการท่องเที่ยวชายแดน เนื่องจากระบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้ขณะที่นโยบายของนายกรัฐมนตรี จะยกเลิกการตรวจ RT-PCR ครั้งแรก ในวันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นการตรวจ ATK แทน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการลดค่าประกันโควิด-19 ทั้งนี้ จะมีการประชุมกันอีกครั้ง ในวันที่ 22 เม.ย.2565 หลังจากเทศกาลสงกรานต์เพื่อรอดูแนวโน้มสถานการณ์ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดย กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา จะเสนอในวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ให้มีการยกเลิกขั้นตอนและวิธีลงทะเบียน Test & Go ในระบบ Thailand Pass โดยให้มีการตรวจ ATK จากประเทศต้นทาง หรือ ตรวจจากประเทศปลายทาง (ประเทศไทย) เพื่อจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายให้ของนักท่องเที่ยว รวมทั้งการใช้รูปแบบวัคซีนทราเวลเลน เมื่อนักท่องเที่ยวฉีดวัคซีนครบโดส จะไม่ต้องซื้อประกันโควิด-19 เพื่อจะเป็นการจูงใจนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่าพบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากเพียงใด พร้อมให้หัวหน้าส่วนราชการ และทุกหน่วยงานที่ประชุม นำไปรายงานยังต้นสังกัดเพื่อให้รับทราบและเพื่อนำไปหารือกับศบค.ต่อไป คาดว่าจะประกาศเป็นโรคประจำถิ่นได้ในเร็วๆ นี้ และเมื่อประกาศได้แล้ว ก็สามารถจะปลดล็อกมาตรการได้