นับนิ้วถอยหลังจากนี้ คงเหลือเวลาอีกไม่นานเกินรอ คอการเมืองไทยคงจะได้ลุ้นระทึก กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ และถือเป็นครั้งสำคัญยิ่งที่จะพลิกประเทศไทย ชี้ตัวผู้นำคนใหม่จะเป็นใคร ภายใต้การเลือกตั้ง ด้วยกติกา “บัตรคนละเบอร์” ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง รวมทั้งผลโพลล์ที่สะท้อนความนิยมของแต่ละพรรคการเมือง
ในที่สุด ประเด็นร้อนแรงทางการเมืองว่าด้วย “บัตรเลือกตั้ง” ที่จะใช้ในการเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ที่หลายฝ่ายตั้งตารอกันมานาน ก็ได้ข้อยุติ ว่าจะใช้ “บัตรคนละเบอร์” หรือ บัตรสองใบ คือ 1. บัตรเลือก ส.ส.เขต และ 2. บัตรเลือก ส.ส.บัตรชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์”
โดยข้อสรุปดังกล่าว เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2565 หลังจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่มี “สาธิต ปิตุเตชะ” เป็นประธาน กมธ.ได้ ชี้ขาดด้วยการลงมติ หลังจากมีความเห็นต่าง เป็น 2 ฝ่าย ซึ่งฝ่ายหนึ่งนำโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งเพื่อไทย (พท.) และ พรรคก้าวไกล (กก.) ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้หมายเลขเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือ “บัตรเบอร์เดียว”ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง นำโดยพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคขนาดกลางและเล็ก ต้องการให้ใช้คนละหมายเลข หรือ “บัตรคนละเบอร์” โดยที่ประชุม กมธ.วิสามัญฯ ชุดดังกล่าวมีมติ 32-14 งดออกเสียง ให้ใช้ ”บัตรคนละเบอร์” เป็นกติกาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนแล้วยังไม่สิ้นสุดเลยเสียทีเดียว เพราะตามขั้นตอนต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ พิจารณาอีกครั้งในวาระที่ 2 ซึ่ง พรรคเพื่อไทย โดยนายสมคิด เชื้อคง ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ยืนยันว่าจะขอต่อสู่อีกครั้ง แต่ทว่าแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง กลับไปใช้ “บัตรเบอร์เดียว” คงเกิดขึ้นได้ยาก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า การที่เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อใช้หมายเลขเดียวกันในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้สิทธิ์ และไม่สร้างความสับสนให้ประชาชน เพราะการใช้บัตรคนละเบอร์ จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ไม่หาเสียงให้พรรคการเมืองต้นสังกัด เพราะกลัวว่าประชาชนจะสับสนระหว่างเบอร์บัญชีรายชื่อของพรรค กับเบอร์ของตัวผู้สมัคร ส.ส. เขต อีกทั้งยังอาจทำให้บัตรเสียได้ง่ายอีกด้วย และคาดว่าเหตุที่ กมธ.เสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้บัตรเบอร์เดียว เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายหลังยอมรับว่า พรรคอาจจะพิจารณา เสนอชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร เป็นหนึ่งในแคนดิเดตที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคเพื่อไทย
สำหรับระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระสำคัญ ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (เดิม 150 คน)
ประเด็นความเห็นต่างเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งได้มีการรวบรวมความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน ในชั้น กมธ.ที่น่าสนใจดังนี้
ฝ่ายที่สนับสนุน “บัตรเบอร์เดียว” เห็นว่า เป็นอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะหาก ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกัน ใช้เบอร์เดียวกัน จะทำให้จำง่าย ทำให้ประชาชน “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” ได้ง่าย ทำให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่าย คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานง่าย และทำให้บัตรเสียน้อยลง สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2564 ที่กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบ
ผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งนายสาธิต ประธาน กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งด้วย
ขณะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะมองว่า การให้ผู้สมัคร ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้หมายเลขเดียวกัน จะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ ส.ส. เขตได้รับความสำคัญน้อยลง เพราะประชาชนจะสนใจแต่แคนดิเดตนายก และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค และไม่เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ระบุว่า “พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้” ซึ่งมีการตีความว่าพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตก่อน ถึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ โดยผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคขนาดกลาง-เล็ก เช่น นพ. ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่
ในส่วนของประเด็นบัตรเลือกตั้งทั้งแบบเขต และบัญชีรายชื่อ จะเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศได้หรือไม่ นายสมชัย สุทธิยากร อดีต กกต.ในฐานะโฆษก กมธ.ฯ ระบุชัดเจนว่า ประเด็นดังกล่าว ประชาชนสนใจ เป็นเรื่องที่ “ชี้เป็นชี้ตาย” เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเบอร์เดียวกันมีการอภิปรายอย่างมาก ซึ่งมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย กมธ.ที่เป็น ส.ส.ไม่ว่าจะพรรคการเมืองใดเกือบทั้งหมด 90% เห็นด้วยกับบัตรเบอร์เดียวกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชน กกต.จัดการเลือกตั้งได้สะดวก และพรรคการเมืองสามารถรณรงค์หาเสียงได้โดยไม่สับสน
ขณะ กมธ.ที่เป็นส.ว. กังวลว่า หากเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศจะขัดมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มีการแก้ไขหรือไม่ ซึ่งระบุว่า ต้องสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตก่อน จึงจะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ เมื่อผ่านขั้นตอนการลงมติไปแล้ว กมธ.เสียงข้างน้อย ย่อมสามารถจะสงวนคำแปรญัตติไปอภิปรายในวาระ 2 – 3 ต่อไป ขณะเดียวกันหากสื่อมวลชนจะนำประเด็นนี้ไปช่วยทำโพลสำรวจความเห็นก็จะเป็นประโยชน์ เนื่องจาก กมธ.อยากรู้ว่าประชาชนคิดอย่างไร อยากได้แบบไหนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายของรัฐบาลย้ำ มติ ของ กมธ.วิสามัญร่าง พ.ร.ป.ที่ให้ใช้ “บัตรคนละเบอร์” ถูกต้องแล้ว และไม่ต้องกังวลจะเป็นโมฆะ รวมไปถึงเรื่องดังกล่าวยังไม่จบ ต้องเข้าสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนจะพลิกในวาระ 2 หรือ 3 อีกหรือไม่ ยอมรับว่ามีความเป็นไปได้
ปิดท้ายกันที่ผลโพล จากการสำรวจของ “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ที่สำรวจความเห็นประชาชน ช่วงปลายเดือน ธ.ค.2564 ต่อคะแนนนิยมของพรรคการเมืองไทย โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกพรรคการเมือง ประกอบด้วย 1) อุดมการณ์ และความผูกพันต่อพรรค เช่น อุดมการณ์เสรีนิยม อนุรักษ์นิยม 2) นโยบายและยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรค เช่น นโยบายประชานิยม ยุทธศาสตร์การสร้างความแตกต่าง 3) ภาพลักษณ์และความนิยมของหัวหน้าพรรค เช่น ภาพลักษณ์ความซื่อสัตย์ การมีวิสัยทัศน์ การมีประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ และการเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย 4) การทำงานในภาพรวมของ ส.ส.ของพรรคในสภาผู้แทนราษฎร เช่น การอภิปราย การเสนอและลงมติเกี่ยวกับการออกกฎหมาย และ 5) ทรัพยากรที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง
1. พรรคเพื่อไทย มีแนวโน้มได้จำนวน ส.ส.คะแนนนิยมของพรรคมีแหล่งที่มาจากความชื่นชมและนิยมในตัวนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังเป็นผู้สนับสนุนหลักของพรรคเพื่อไทย นโยบายประชานิยม และผลงานการบริหารประเทศในอดีต อย่างไรก็ตามคะแนนนิยมของพรรคอาจมีโอกาสเพิ่มขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง หากพรรคมีการเสนอบุคคลที่มีภาพลักษณ์ดีเป็นตัวเลือกในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสามารถคิดค้นนโยบายประชานิยมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เลือกตั้ง
2. พรรคก้าวไกล ซึ่งแปลงสภาพจากพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไป คะแนนนิยมของพรรคมาจากอุดมการณ์เสรีนิยม ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาว การมีจุดยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีอย่างเข้มข้น และการทำงานของ ส.ส.ของพรรคในสภาผู้แทนราษฎร ที่แสดงบทบาทได้ค่อนข้างโดดเด่นทั้งในการอภิปรายและการเสนอกฎหมายที่ทันสมัยต่าง ๆ (แม้ว่าไม่ผ่านสภาฯ ก็ตาม)
3. พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐ ผูกติดกับความนิยมต่อตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากคะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ตก คะแนนนิยมของพรรคก็ตกลงตามไปไปด้วย และหากพลเอกประยุทธ์ วางมือทางการเมืองไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุใดก็ตาม หรือ ยังเล่นการเมืองแต่ไปสังกัดพรรคอื่น คะแนนนิยมของ พปชร. ก็มีโอกาสลดลงไปอีก
4. พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมของพรรคมาจากความผูกพันของประชาชนที่มีต่อพรรคในฐานะที่เป็นพรรคเก่าแก่ ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ดูไม่มีผลมากนัก พรรคประชาธิปัตย์อาจได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น หากพลเอกประยุทธ์ไม่เล่นการเมือง เพราะจะมีผู้เลือกตั้งชนชั้นกลางอนุรักษ์นิยมบางส่วนที่เคยสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ จะหันไปสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น
5. พรรคภูมิใจไทย และ พรรคเสรีรวมไทย กรณีเสรีรวมไทยแหล่งคะแนนนิยมมาจากภาพลักษณ์ของหัวหน้าพรรค ที่มีลักษณะเป็นคนกล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารประเทศ ส่วนพรรคภูมิใจไทน มาจากการเสนอนโยบายที่หวือหวาในการหาเสียงอย่างไรก็ตาม มีประชาชนอีกประมาณร้อยละ 26 – 32 ที่ยังไม่ตัดสินใจว่า สนับสนุนพรรคการเมืองใด ซึ่งหมายความว่า ยังมีที่นั่ง ส.ส. ประมาณหนึ่งในสี่ ที่พรรคการเมืองต่าง ๆ สามารถช่วงชิงกันในระหว่างการรณรงค์เลือกตั้ง สำหรับผู้เลือกตั้งกลุ่มนี้ การตัดสินใจเลือกตั้งมีแนวโน้มใช้เหตุผลเชิงอรรถประโยชน์นิยมเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ อันได้แก่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้จากนโยบายของพรรค หรือประโยชน์เฉพาะหน้าที่เป็นรูปธรรมระหว่างการหาเสียง
ส่วน เรื่อง “เลือกตั้งบัตร 2 ใบ ใครได้เปรียบ” โดยทำการสำรวจ จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,318 หน่วยตัวอย่างพรรคการเมืองที่ประชาชนคิดว่าจะได้เปรียบจากการใช้บัตร 2 ใบ ในการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.38 ระบุว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบ รองลงมา ร้อยละ 23.75 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจร้อยละ 22.00 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 18.36 ระบุว่า พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 4.86 ระบุว่า พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ ในสัดส่วนที่เท่ากันร้อยละ1.29 ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยและร้อยละ 2.28 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคเพื่อชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคกล้า พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคชาติพัฒนา พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และ พรรคไทยภักดี
อย่างไรก็ตาม การเมือง คือ.. “การแสวงหาอำนาจ และอำนาจเป็นของประชาชน” ที่จะชี้ชะตาว่า ใครได้เปรียบ เสียเปรียบ ซึ่งอยู่ในมือเรา..
ดังนั้น ใครปลูกอะไร ก็ย่อมได้อย่างนั้น !