“อนุทิน ชาญวีรกูร” รมว.สาธารณสุข นำคณะลงพื้นที่บึงกาฬ เปิดงานประชุมวิชาการ “กัญชาทางการแพทย์” มั่นใจ ในอนาคต กัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจ กระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
วันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ ถนนข้าวเม่าริมโขง อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง คณะผู้บริหารฝ่ายปกครอง และส่วนท้องถิ่น บุคลากรด้านการสาธารณสุข อสม. และประชาชน ได้มาร่วมงาน ประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ เขตสุขภาพที่ 8 หรือพื้นที่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู และจังหวัดบึงกาฬ
นายอนุทิน กล่าวเปิดงานว่า นโยบายกัญชาทางการแพทย์ เป็นนโยบายที่กําหนดขึ้น เพื่อสร้างรายได้ ให้ประชาชน และประเทศ กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ เพราะเป็นหนึ่งในพืชที่ใช้ ประโยชน์นํามาเป็นยา และอาหารได้ทุกส่วน ทั้ง ราก ต้น ใบ และดอก ที่คนไทย ใช้กันมานานการดําเนินงานกัญชาทางการแพทย์ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า กัญชา จะเป็นพืชเศรษฐกิจ และจะสามารถพลิกโฉมให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ในภาพรวมของประเทศ เห็นได้จากผลงานในปี 2565 แม้ว่าจะมีสถานการณ์ โควิด-19 พบว่า ผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ อย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท
ขั้นตอนการปฏิบัติของเรา เริ่มก้าวแรกจากการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ การทําให้กัญชา เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน และความสําเร็จล่าสุด คือ มีการแก้กฎหมายทําให้ พืชกัญชาหลุดจากการเป็นยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ตนได้ลงนามปลดล็อกพืชกัญชา จากการเป็นยาเสพติด เพื่อเปิดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากกัญชาอย่างเหมาะสม ไม่จํากัดแค่ 6 ต้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน การจัดงานประชุมวิชาการกัญชาของเขตสุขภาพนี้ จึงเป็นการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการนํา ส่วน กิ่ง ก้าน ราก ใบ และช่อดอก เพื่อเอาส่วนที่เป็นประโยชน์มาใช้เป็นยาสมุนไพร ประกอบอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการ และบุคลากรทางการแพทย์ได้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถใช้กัญชาได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัย รวมถึงต่อยอด ทางธุรกิจได้อย่างคุ้มค่าขอเรียนเน้นย้ำว่า กัญชา กัญชง มีประโยชน์มาก สามารถนํามาใช้ ในการรักษาอาการเจ็บป่วยได้ เรากําลังเดินหน้าให้คนไทยสามารถปลูกกัญชา เพื่อใช้รักษาโรคได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรตัวอื่น แต่จะต้องมีกระบวนการ ควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานรัฐสภา เพื่อให้มีกฎหมายมาควบคุมเฉพาะ
หลังจาก 120 วัน ที่กัญชาจะพ้นจากการเป็นยาเสพติด ประชาชน ที่ต้องการปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือน ไม่ต้องขออนุญาตแบบแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นมา จดแจ้งให้รัฐทราบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกําหนดของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เมื่อเราได้ทําตามความประสงค์ของประชาชน คือ เอาต้นกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว ขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์ในทางที่ถูกต้อง และช่วยกันสอดส่องดูแลไม่ให้นําไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง
“ขณะนี้ ยังปลูกเลยไม่ได้ หากจะปลูก ต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือให้ปฏิบัติตามกฎหมาย แต่ทุกอย่างจะง่ายขึ้น เมื่อผ่านพ้น 120 วัน ที่ประกาศปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้พอดี เพลงของคุณแอ๊ด คาราบาว ว่าไว้ กัญชามีจารึกในประวัติศาสตร์ ว่าไทยแลนด์เป็นชาติที่ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ความเข้าใจตรงนี้ ต้องรู้ทั้งวิธีการใช้ และเรื่องของกรอบกฎหมาย เมื่อทุกอย่างง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น มั่นใจว่า กัญชามีอนาคตที่สดใส ทั้งในเรื่องการแพทย์ และในเรื่องของเศรษฐกิจ ไปจนถึงจะช่วยส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวด้วย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การดำเนินนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ของเขตสุขภาพที่ 8 ประกอบซึ่งไปด้วย จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สกลนคร นครพนม หนองคาย หนองบัวลำภู และจังหวัดบึงกาฬ เป็นเขตสุขภาพที่มีความโดดเด่นในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ มีการวางยุทธศาสตร์นำกัญชาขับเคลื่อนนโยบาย สู่ศูนย์กลางบริการสุขภาพลุ่มน้ำโขง ได้แก่ 1. Medical Service Hub ศูนย์กลางบริการสุขภาพ 2. Product Hub ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ สนับสนุนการปลูก การผลิต การแปรรูปเน้นการพัฒนาอย่างครบวงจร มีการส่งเสริมการปลูกทุกระดับตั้งแต่ครัวเรือน จนถึงศูนย์เรียนรู้กัญชาทางการแพทย์ และเศรษฐกิจสุขภาพ 900 ต้น จัดตั้ง “ธนาคารต้นกล้า สายพันธุ์ไทย” 3 แห่ง พัฒนาสถานที่ผลิตยาสมุนไพร ตามมาตรฐาน WHO-GMP 4 แห่ง สร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์กัญชา
3. Academic Hub ศูนย์กลางบริการวิชาการและงานวิจัย ร่วมมือกับสถาบันพระบรมราชชนก พร้อมพัฒนาศูนย์การวิจัยลุ่มน้ำโขง 4. Wellness hub ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน จัดเส้นทางท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและเรียนรู้กัญชา กัญชง สมุนไพร สร้างเศรษฐกิจ เส้นทางท่องเที่ยวกัญชาริมฝั่งโขง สร้างสรรค์กัญชาศิลปะบำบัด จัดทำหลักสูตรอบรมมัคคุเทศก์ ท่องเที่ยวกัญชาเพื่อสุขภาพร่วมกับสถาบันกัญชา กรมการท่องเที่ยว และหลักสูตรกัญชา และสมุนไพรในอาหาร-เครื่องดื่มเป็นยา สำหรับเชฟมืออาชีพ ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืนด้วยกัญชาเสรีทางการแพทย์ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงาน สำหรับกิจกรรมภายในงาน นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว มีนิทรรศการ ตลาดนัดความรู้ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดงให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิมและลงมือทำ โดยนายอนุทิน ได้เยี่ยมชมบูธที่นำสินค้ามาแสดงภายในงานอย่างทั่วถึง โดยได้ร่วมภายในบูธ “ดัชนีไฉไล ด้วยนวดไทย ใส่กัญชาไทย โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ” ร่วมขับร้องเพลงสด “หนูกัญชา” ในบูธ “Tomchongcha” และร่วมรับประทานอาหารกัญชาริมแม่น้ำโขง ที่จัดโดย “เชฟมิชลิน สตาร์” ระดับ 2 ดาว นายชุมพล แจ้งไพร” ที่ได้รังสรรค์ 7 เมนู เพื่อเสริฟอาหารกลางวัน ในบูธ “โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้กัญชาทางการแพทย์ และเศรษฐกิจสุขภาพ เขตสุขภาพที่ 8 จังหวัดบึงกาฬ : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์และแปรรูปพืชสมุนไพร”