นายกฯ มอบนโยบาย บอร์ด รัฐวิสาหกิจ ต้องโปร่งใส สร้างรายได้ เพื่อบ้านเมือง

นายกฯ มอบนโยบาย รัฐวิสาหกิจ ต้องดำเนินการโดยโปร่งใส ถูกต้องตามกฎหมาย รักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง เน้นสร้างรายได้ จากผลประกอบการ ไม่ใช่หวังผลจากทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 โดยมอบนโยบายว่า ต้องโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม ให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชน ขอให้ทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวัง รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด พร้อมฝากพิจารณาว่า ปัญหาของรัฐวิสาหกิจ(รสก.)มีพื้นฐานของปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขได้อย่างไร ทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความไว้วางใจ ความเชื่อมั่น

สำหรับการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ พบว่า มีหลายอย่างดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องพิจารณาว่าเป็นการดีขึ้น จากการประกอบการจริงหรือไม่ ส่วนหนึ่งอาจเป็นรายได้จากธุรกิจอื่นเช่น การใช้ประโยชน์จากที่ดิน การขายทรัพย์สิน หรือ ให้เช่าพื้นที่รวมทั้งการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่ผลประกอบการหลักยังขาดทุนอยู่ จึงต้องแยกให้ชัดเจน เพื่อให้เจอปัญหาที่จะต้องแก้ไข และ ต้องเร่งแก้ปัญหาเก่าและเดินหน้าใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนในอนาคต ทุกอย่างขึ้นกับความร่วมมือของทุกคน ที่สำคัญที่สุดคือความโปร่งใส

“เช่นกรณีบริษัทการบินไทยซึ่ง แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัท และ บริษัทย่อย ในปี 2564 มีกำไรสุทธิ 55,113 ล้านบาท สาเหตุหลัก คือ การบริหารทรัพย์สินที่มีอยู่ จึงทำให้มีรายได้เพิ่ม แต่ยังไม่ถือเป็นรายได้ที่แท้จริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างองค์กรและค่าตอบแทนบุคลากร สิ่งสำคัญคือต้องทำให้มีเที่ยวบินมากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ที่แท้จริง”

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการจัดทำแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 ที่สามารถตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติและพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืนโดยให้กำหนดกรอบทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง เพื่อนำ 13 หมุดหมาย ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายของประเทศได้ แผนดังกล่าวจะมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ( BCG Model) และสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งการปรับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสนองต่อวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) นอกจากนี้ ให้สนับสนุน SME และมีการบูรณาการทำงานร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานภาครัฐอื่น และเอกชนมากยิ่งขึ้น

การดำเนินการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง มีความคืบหน้าในการดำเนินงานตามลำดับ เช่น บริษัทอสมท (บมจ. อสมท) ได้ดำเนินการตามแผนพลิกฟื้นธุรกิจระยะสั้น ประจำปี 2564 ทำให้มีกำไรจากที่มีผลขาดทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่ง คนร. ได้กำชับให้มีการดำเนินการตามแผนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมทั้งในเรื่องทางการเงินและการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น บริษัท เอ็นที ให้เร่งพัฒนาและบริหารจัดการระบบ 5G และดาวเทียมไทยคมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และการรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งการจัดหารถเพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้ดีขึ้น เป็นต้น

การประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจในปี 2563 และ 2564 รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ มีผลการประเมินที่ดีขึ้นโดย คนร. ได้มีนโยบายให้รัฐวิสาหกิจปรับตัว เตรียมการ และกำหนดแนวทางการบริหารจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และดูแลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 และภาวะวิกฤติต่างๆ ในปัจจุบัน เช่นการเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิง และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ